เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มรส.ร่วมสืบสานประเพณีออกพรรษา ขณะที่เครื่องสังฆภัณฑ์ขายดีกว่าปีแล้ว


12 ต.ค. 2562, 14:38



มรส.ร่วมสืบสานประเพณีออกพรรษา ขณะที่เครื่องสังฆภัณฑ์ขายดีกว่าปีแล้ว




​ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จัดขบวนแห่เรือพนมพระทางบก และขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ในงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานฯจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี ๒๕๖๒ เอกลักษณ์หนึ่งเดียวของท้องถิ่น ยกเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรม ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ นักศึกษาร่วมสืบสานประเพณีเก่าแก่ของท้องถิ่น เสริมการเรียนรู้สังคมอย่างรู้คุณค่าและนำมาปฏิบัติงานจริง มุ่งสู่อาชีพในอนาคต

​ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี เปิดเผยว่า มรส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น มีพันธกิจสำคัญด้านการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาสากล จึงร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดขบวนแห่เรือพนมพระทางบก และขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ในงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี ๒๕๖๒ ด้วยการจัดขบวนนำแห่เรือพนมพระทางบกและขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อร่วมสืบสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นใต้หนึ่งเดียวของประเทศไทยที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดการเรียนรู้ หวงแหน ประเพณีสำคัญของท้องถิ่น

 



มหาวิทยาลัยฯ จึงหนุนนำ ส่งเสริม และสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงแก่นักศึกษาเพื่อมุ่งสู่อาชีพในอนาคตด้วยการผลักดันให้นักศึกษาของ มรส. เป็น วิศวกรสังคม ที่สามารถสร้างคุณค่าด้วยทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนอยู่คู่กับท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างรายได้อย่างครบมิติทุกด้านในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการคิดวิเคราะห์การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไป

​สำหรับขบวนนำแห่เรือพนมพระทางบก และขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ดำเนินการโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดรูปแบบนำขบวนด้วยสื่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ จำนวน ๓ ชุด ได้แก่ ชุดที่ ๑ เพลงบอก นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเอาเครื่องมือเครื่องใช้สิ่งของและหัตกรรมพื้นบ้านในชีวิตประจำวัน เช่น กระจาด กรงนกกรงหัวจุก ชุดที่ ๒ หนังตะลุง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ จำลองการแสดงหนังตะลุง และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ตกแต่งด้วยเครื่องจักสาน และงานหัตถกรรม อาทิ หวด กระด้ง กระบุง เสื่อกระจูด ฝาชี สุ่มไก่ อุปกรณ์ประมง ลอบ ไซ ตุ้ม สุ่ม ชะนาง แห อวน ผ้าขาวม้า ผ้าไหมสีเหลืองทอง เป็นงานหัตถศิลป์ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่การประกอบอาชีพของคนในชุมชน และชุดที่ ๓ มโนราห์ เอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมการแสดง รวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อของมโนราห์ มีการตกแต่งขบวนด้วยพิธีมโนราห์โรงครู ประดับด้วยดอกรักประดิษฐ์ห้อยระย้าสลับสี และเรียงเป็นลวดลายตามแบบเครื่องแต่งกายของชุดลูกปัดมโนราห์ มีการนำเมล็ดธัญพืชประดับเป็นรูปทรงเทริด ที่เป็นเครื่องประดับและสัญลักษณ์สูงสุดของมโนราห์ เครื่องสูงทรงฉัตร ๕ ชั้น และ ๓ ชั้น ประดับด้วยผ้าหลากสีตลอดทั้งคัน

 

 

 


​ขณะที่พุทธศาสนิกชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่างทยอยเดินทางมาซื้อสิ่งของประดับพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านไปประดับประดาตามบ้านของตนเอง ทำให้บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างคึกคัก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาพบว่ายอดการจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและจะเพิ่มมากขึ้นในวันที่ 13ตุลาคม 62 เป็นการเฉลิมฉลองพุ่มป่าก่อนที่จะให้พระภิกษุมาชักพุ่มในช่วงเช้าของวันต่อไป ซึ่งลูกค้าบางรายจะเข้ามาซื้อสิ่งของแล้วนำไปห่อเองก็มีเนื่องจากราคาจะถูกกว่าซื้อแบบสำเร็จรูป ซึ่งในส่วนนี้ทางร้านก็พร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้า

 

 

 

 

คลิป

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.