เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"สภาผู้บริโภค" เดินหน้าขยายฐาน ยกระดับ งาน "คุ้มครองผู้บริโภค" ในภาคใต้


27 ก.ย. 2566, 15:10



"สภาผู้บริโภค" เดินหน้าขยายฐาน ยกระดับ งาน "คุ้มครองผู้บริโภค" ในภาคใต้




เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ห้องบงกชรัตน์ 3 โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ รู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภคภาคใต้ เพื่อขยายความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายผู้บริโภคพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระนอง จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนราธิวาส จังหวัดพังงา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการทำงานคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในบทบาทการทำงานของสภาผู้บริโภค โดยมีนายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยคุรพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ,คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภคฯ ,คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และเครือข่าย ร่วมในพิธี เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ รวมทั้งความสำคัญของการมี ‘สภาผู้บริโภค’

คุณบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคยังปรากฏให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างมากและยังมีหลายมิติอีกด้วย ตั้งแต่การถูกเอาเปรียบจากราคา คุณภาพของสินค้าและบริการ การทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การเข้าไม่ถึงบริการที่ดี การถูกหลอกขายสินค้าที่มีอันตราย หรือเผชิญภัยคุกคามทางเทคโนโลยี เช่น SMS หลอกลวง หรือมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้นและถือเป็นความท้าทายสำคัญในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้นการเกิดขึ้นของสภาผู้บริโภคจึงถือเป็นกลไกหนึ่งของสังคมไทยในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค โดยในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภคมีบทบาทเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน มีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ อาทิ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ที่สามารถรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคจนจบในที่เดียว โดยไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน (One-stop Service) รวมถึงการเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุน ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเข้มแข็งและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสู่ปีที่ 2 และขณะนี้มีองค์กรสมาชิกจำนวน 307 องค์กรใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ แต่มีความตั้งใจที่จะขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จึงคาดหวังว่าการสร้างความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เครือข่ายผู้บริโภคและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ภาคใต้ได้รู้จัก เข้าใจในการทำงานของสภาผู้บริโภค และเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า แม้สภาผู้บริโภคจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากและสามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่ยังมีความเชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีมูลค่ามากมายมหาศาลมากกว่านี้ อาทิ ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ในปี 2565 ประชาชนแจ้งความกรณีถูกหลอกลวงทางออนไลน์กว่า 2 แสนกรณี โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่าหลักหมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ การหลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกดไลก์ กดแชร์ ปั่นยอดซื้อสินค้า ภารกิจกดรับออเดอร์ การใช้ความเดือดร้อนของผู้บริโภคมาหลอกลวงอย่างการหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน หรือการหลอกให้ลงทุน

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ร่วมมือและเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ตั้งกองทุนหรือทำหลักประกันคุ้มครองความเสียหายในการฝากเงินกรณีเกิดภัยทุจริตทางการเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาเงินของผู้บริโภค การจัดอบรมเพิ่มศักยภาพเครือข่ายและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า (ETDA) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ เพื่อจัดการปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงทางออนไลน์ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือการหารือร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อย หลังที่ผ่านมามีกรณีที่สถาบันการเงินในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นกู้ได้ผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน ทั้งที่หุ้นกู้ตัวนั้นกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น เป็นต้น

“จากการทำงานการเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค พบว่า สภาผู้บริโภคยังมีข้อจำกัดในการผลักดันข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานรัฐค่อนข้างมาก ซึ่งในปีนี้สภาผู้บริโภคมีแนวทางที่จะทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน และพรรคการเมืองให้มากยิ่งขึ้น โดยมองว่าทุกภาคส่วนมีหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกันกับสิ่งที่สภาผู้บริโภคกำลังดำเนินการ อีกทั้งสภาผู้บริโภคเดินหน้าผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งและยั่งยืนผ่านแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน แต่เป็นการสนับสนุนให้ทุนเกิดการแข่งขัน เมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น คนที่ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภคและทุน” สารี ระบุ

นอกจากการพัฒนาและผลักดันนโยบายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว สภาผู้บริโภคยังมีบทบาทในการการสนับสนุนและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ผ่านการเฝ้าระวังและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อาทิ การเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค อย่างกรณีถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะที่ทำให้ผู้บริโภคที่ขับขี่รถได้รับอันตรายจากการระเบิดของถุงลม และสภาผู้บริโภคได้เผยแพร่ข้อมูล เสนอแนะแนวทางแก้ไขให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทั่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนถุงลมที่ไม่ปลอดภัยฟรีในรถยนต์จำนวนกว่า 9 หมื่นคัน หรือการทดสอบหมวกนิรภัยจำนวน 25 ตัวอย่าง และพบว่าหมวกกันน็อกที่นำมาทดสอบไม่ผ่านการทดสอบจำนวน 11 ตัวอย่าง ซึ่งสิ่งที่สภาผู้บริโภคผลักดันต่อคือการส่งข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำหมวกนิรภัยที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานออกจากตลาดโดยเร็ว และการขอความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้นำข้อมูลหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบให้บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์นำไปพิจารณาเพื่อเลือกใช้หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานสำหรับแจกผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เห็นว่าข้อเสนอแนะที่สภาผู้บริโภคเสนอไปหากได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากผู้บริโภค จะช่วยให้ภาครัฐเห็นความสำคัญและทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อีกด้วย

ขณะที่ สมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของภาคใต้ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต ภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ ทำให้มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและทำให้การบริโภคสินค้าและบริการมากตามด้วย และสิ่งที่ตามมาอีกคือการที่ผู้บริโภคในจังหวัดต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยที่ผ่านมาผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ด้วยจำนวนของบุคลากรที่สวนทางกับปัญหาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน อาจทำให้ปัญหาของผู้บริโภคไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

“การที่สภาผู้บริโภคขยายภาคีในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้สิทธิผู้บริโภค เท่าทันปัญหา มีข้อมูลเพียงพอในการป้องกันตัวเอง และสามารถช่วยพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของตัวเองและผู้บริโภครายอื่น ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่าสร้างความร่วมมือร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ

ด้านคุณพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อธิบายว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ สปน. ทำหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค โดยภาพรวมการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรฯ ในปัจจุบันมีจำนวนองค์กรที่ผ่านการจดแจ้งทั้งสิ้น 330 องค์กร แบ่งเป็นภาคเหนือจำนวน 102 องค์กร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 85 องค์กร ภาคตะวันออก จำนวน 25 องค์กร ภาคกลาง จำนวน 45 องค์กร กรุงเทพมหานครจำนวน 33 องค์กร และภาคใต้จำนวน 40 องค์กร

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ สปน. มี 4 ข้อ ดังนี้ 1) การพัฒนาระบบเว็บไซต์ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลจังหวัดของสภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกในการการรับแจ้งสถานะ ตรวจสอบ และการประชาสัมพันธ์ 2) จัดประชุมหารือแลกเปลี่ยนการทำงานกับสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานความร่วมมือ หารือเกี่ยวกับการเสนอขอรับงบประมาณและการจัดทำรายงานประจำปี 3) รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 และ 4) การทำข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค





คำที่เกี่ยวข้อง : #นครศรีธรรมราช  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.