เปิดภาพ "ภารกิจผู้พิทักษ์ป่า" นอกจากลาดตระเวนเชิงคุณภาพยังทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัย ในการเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในพื้นที่
8 ส.ค. 2566, 18:17
เพจเฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เผยภาพ ภารกิจผู้พิทักษ์ นอกจากลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART PATROL แล้ว เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินยังทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัย ในการเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในพื้นที่ พร้อมระบุว่า
ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินได้เข้าพื้นที่เก็บกองมูลกวางผา เพื่อส่งตัวอย่างกองมูลให้กับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว ในการศึกษา DNA ของกวางผาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เพื่อนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์กวางป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติในอนาคตต่อไป
กวางผา ชื่อสามัญคือ Gorals มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhedus griseus (ปัจจุบัน กวางผาที่พบในประเทศไทย ใช้ชื่อกวางผาพม่า (Burmese goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi (Lydekker, 1905) แทน) อยู่ในวงศ์ Bovidae
กวางผาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered : CR) ตามการจัดสถานภาพสัตว์ป่าของ IUCN และเป็นสัตว์สงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยทั่วไปกวางผาเป็นสัตว์ที่อาศัยและหากินบนพื้นที่สูงที่มีลักษณะเป็นภูเขาหรือหน้าผาสูงชันที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 – 4,000 เมตร