โฆษกฯ เตือน! บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ เชิญชวนลด ละ เลิก เพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้าย
17 มิ.ย. 2566, 09:31
วันนี้ 17 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายพิษร้ายต่อสุขภาพ” ของกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ที่ออกคำเตือนบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะทำลายสุขภาพและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ แล้ว ยังอันตรายไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่มวนทั่วไปอีกด้วย จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้สูบบุหรี่ ควร ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ
นายอนุชาฯ กล่าวถึงข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของใหม่ที่ผู้สูบหันมานิยมสูบมากขึ้น เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา และเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะปลอดภัย อันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม ๆ แต่ความจริงแล้วสารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษที่อันตรายไม่ต่างกว่าบุหรี่มวนทั่วไป มีสารนิโคตินเหลวซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่านิโคตินในบุหรี่มวนปกติ โดยในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารประกอบ ได้แก่ 1) นิโคติน (Nicotine) ที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทําให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 2) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene glycol) เป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาและปอด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง 3) สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) และ 4) กลีเซอรีน (Glycerin) โดยบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโทษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ระคายเคืองในช่องปากและคอ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หากได้รับไปนาน ๆ จนเกิดการสะสมจะทำให้เกิดอาการ เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ชัก วิตกกังวล ซึมเศร้า ปวดบวม จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยังระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสูบบุหรี่ สร้างความร้อนและไอน้ำด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ ส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีส่วนผสมหลัก คือนิโคตินที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีสารโพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin และสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าล้วนมีสารพิษที่ให้โทษต่อร่างกาย
ขณะที่ข้อมูลกรมอนามัย เผยว่า การสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้มากถึง 10 เท่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่น ๆ จากการสูบบุหรี่ คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนผิวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก ความสามารถในการรับรสลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดฟันผุ และการสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม จากการมีคราบเหนียวของน้ำมันดินในบุหรี่ติดแน่นบนตัวฟัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขัดออกนาน ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รักษาไม่หายขาด
“สำหรับแนวทางการลด ละ เลิก ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ สิ่งที่สําคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่ คือตัวผู้สูบเอง ด้วยการตั้งเป้าหมาย เช่น การลดปริมาณการสูบบุหรี่ให้น้อยลง ปฏิเสธเมื่อถูกชวน หากมีอาการอยากสูบสิ่งที่ต้องทำคือเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้มีการหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เช่น การหักดิบ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็มีส่วนต่อการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงกำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง โดยการเลิกบุหรี่ให้หายขาดไม่ใช่เรื่องยาก เพียงทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ไม่กลับไปสูบบุหรี่ได้ รวมทั้งยังส่งผลให้ผิวพรรณสดใส สุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันโรคทรวงอก เปิดให้บริการคลินิกอดบุหรี่ ในทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยมีการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ โดยบุคลากรทางการแพทย์ เฉพาะทาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเปิดบริการ อดบุหรี่ด้วยยา ทุกวันพุธ เวลา 08.00 น.– 12.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02-5470999 ต่อ 30927 รวมทั้ง กรมอนามัยเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคก่อนมะเร็งช่องปากได้ที่คลินิกทันตกรรมของรัฐทุกแห่ง เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ประชาชนสามารถตรวจรอยโรคในช่องปากได้ด้วยตนเอง หากมีรอยโรคแดง ขาว แผลหรือก้อนที่ไม่หายใน 3 สัปดาห์ก็ควรมาพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อการตรวจรักษาต่อไป