นายกฯ ติดตามภาพรวมระบบการเงินของประเทศไตรมาสที่ 1/2566 โดยรวมมีเสถียรภาพ
15 มิ.ย. 2566, 09:16
วันนี้ (15 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินประเทศไทย ซึ่งรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ระบุระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ซึ่งได้รับผลดีจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยจากปัจจัยในประเทศปรับลดลง แต่ยังมีจุดเปราะบางที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ ที่ฐานะการเงินของบางกลุ่มยังคงเปราะบาง (2) ตลาดการเงินไทย ยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น โดยความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) ปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ (2) การชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์โลกที่อาจส่งผ่านความเสี่ยงผ่าน second round effect มาสู่ระบบการเงินไทย และ (3) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจในต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบเชิง sentiment ต่อตลาดการเงินไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย รายไตรมาส (Financial Stability Snapshot) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำนั้น ครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 8 ด้าน คือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารพาณิชย์ & non-bank ภาคสหกรณ์ ภาคตลาดการเงิน ภาคต่างประเทศ และภาคตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 สถานะความเสี่ยง ณ ปัจจุบัน มีดังนี้
1) ภาคครัวเรือน ยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง แม้รายได้เริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เปราะบาง โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า และกลุ่มที่มีหนี้สูง
2) ภาคธุรกิจ ประกอบด้วย (1) ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้และทำกำไรลดลง แต่ยังมีสภาพคล่องและฐานะการเงินในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจาก ความต้องการซื้อในตลาดโลกที่ชะลอลงต่อภาคการผลิตที่เน้นการส่งออก เช่น เหล็ก แผงวงจรและเซมิคอนดักเตอร์ ยางและพลาสติก รวมถึงติดตามบางบริษัทในกลุ่มก่อสร้าง (2) SMEs รายได้ทยอยฟื้นตัว แต่คุณภาพสินเชื่อและฐานะการเงินยังเปราะบาง ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของกลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก สิ่งทอ ปิโตรเลียม และขนส่งสินค้า ที่ความต้องการซื้อในตลาดโลกชะลอลง และติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
3) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย (1) เพื่อการอยู่อาศัย: ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ด้านอุปสงค์ชะลอลงบ้างหลังสิ้นสุดการผ่อนคลาย LTV และยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกับการฟื้นตัวของผู้ประกอบการ SMEs (2) เพื่อการพาณิชย์: อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราการเช่าของพื้นที่สำนักงานแม้จะยังอยู่ในระดับสูง แต่ปรับลดลงจากอุปทานที่สูงขึ้น
4) ภาคธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และ Non-bank ประกอบด้วย (1) ระบบ ธพ. ยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลประกอบการกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 โดยระดับเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องยังเข้มแข็ง (2) Non-bank ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมีฐานะอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อที่เห็นสัญญาณที่ด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน)
5) ภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ (อส.) ซึ่ง สอ. โดยรวมยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ดี ต้องติดตาม สอ. บางแห่งที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง
6) ภาคตลาดการเงิน แม้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงจากปัญหาภาคธนาคารในต่างประเทศ แต่ตลาดการเงินไทยได้รับผลกระทบจำกัดจากสถานการณ์ดังกล่าว และยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยอย่างใกล้ชิด
7) ด้านต่างประเทศ ยังเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้นจากดุลบริการตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และ
8) ภาค Digital asset มีความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากจำนวนบัญชี active account และปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพราะตลาดมีความผันผวนสูง