นายกฯ ส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา
10 มิ.ย. 2566, 09:52
วันนี้ (10 มิ.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (Capital Flow in Rubber Industrial Estate: CARE) เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออก เชื่อมั่นความร่วมมือที่เข้มแข็งจะต่อยอดเพิ่มโอกาสผลิตภัณฑ์ไทย
โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) ระหว่างกระทรวงการคลังและพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มีจุดประสงค์สำคัญคือ 1) การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง 2) การผลักดันสินค้าและการจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG 3) การเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออกของไทย 4) การให้ความรู้ด้านการจัดการ การเงิน ความรู้ด้านการส่งออก และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 5) การเป็นต้นแบบบูรณาการความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ณ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร โอกาส และเงินทุนอย่างบูรณาการ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การส่งออก การจัดการเงินทุน นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ การพัฒนาแนวทางสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ซึ่งการลงนามขยายความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 2566
ทั้งนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราในปัจจุบันมีมูลค่า 680,000 ล้านบาทต่อปี โดยครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางพาราไทย ตั้งแต่การผลิตในขั้นปฐมภูมิจากเกษตรกรชาวสวนยาง ขั้นทุติยภูมิ อาทิ โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแห้ง โรงงานแปรรูปไม้ยาง และขั้นตติยภูมิ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้างและงานวิศวกรรม สายพาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง วัสดุก่อสร้าง ของเล่นผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจากความต้องการนำเข้าของจีนและญี่ปุ่น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้อรถยนต์ และรถไฟฟ้า โดยโครงการความร่วมมือนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจกันระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยและมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มมากขึ้น
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นโครงการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ายาพาราไทยและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น จะส่งผลให้ยางพาราไทยมีโอกาสพัฒนาและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” นายอนุชาฯ กล่าว