ชาวบ้านโวยฟาร์มกุ้งปล่อยน้ำเสียลงป่าสาธารณะ สัตว์น้ำ-ต้นไม้ตายเกลื่อน
24 พ.ค. 2566, 13:36
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 23 พ.ค. 66 ร.อ.กอบศักดิ์ นาคหาญ หัวหน้าชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าวสาร จ.ชุมพร (หน.ชรต.403)พร้อมด้วยนายสันต์ ฉิมหาด นายก อบต.ทุ่งมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร น.ส.อวยพร อุ่นเพ็ง ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.หลังสวน ลงพื้นที่ หมู่ที่ 13 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.หลังสวน เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง หลังชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากฟาร์มกุ้ง ที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในผืนป่าสาธารณะของหมู่บ้าน ทำให้ต้นเสม็ดยืนต้นตายเป็นจำนวนมากนอกจากนี้น้ำเสียจากฟาร์มกุ้งที่ปล่อยมาได้ไหลไปท่วมพื้นที่สวนของชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันหลายราย
จากการลงพื้นที่โดยมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ มายืนรอพร้อมนำลงตรวจสอบ ซึ่งพบว่า ฟาร์มกุ้งดังกล่าวเป็นของ บ.มรกตฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายปากน้ำหลังสวน-อ.ละแม บริเวณด้านหน้าติดชายทะเลอ่าวทุ่งมะพร้าว ส่วนภายในฟาร์ม มีบ่อเลี้ยงกุ้ง ขนาด 1 ไร่เศษ จำนวน 13 บ่อ มีรั้วกั้นมิดชิด ส่วนด้านหลังยังมีเนื้อที่ว่างเปล่า กว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นของฟาร์ม โดยมีถนนกั้นกลาง มีการขุดดินทรายออกเป็นร่องขนาดกว้าง 4 เมตร ลึกกว่า 2 เมตรและ ยาวกว่า 50 เมตร ไปจนติดผืนป่าสาธารณะ ซึ่งเป็นในการดูแลของสำนักงานราชพัสดุ โดยแนวชายขอบเขตที่ดินของฟาร์ม พบมีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ลงในร่องน้ำ ที่ทางฟาร์มขุดไว้ กว้างกว่า 5 เมตร ลึกกว่า 3 เมตร ขนาดยาว ประมาณ 100 เมตร และไปเชื่อมต่อกับลำราง ซึ่งมีการขุดขึ้นใหม่ให้กว้างขึ้น ผ่าผืนป่าซึ่งมีต้นเสม็ดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและถือว่าเป็นป่าเสม็ดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดชุมพรก็ว่าได้ แต่สิ่งที่พบในวันนี้ไม่คงเหลือความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้เห็น เพราะต้นเสม็ดจำนวนมากกำลังยืนต้นตายเนื่องจากมีน้ำเสีย ซึ่งทางฟาร์มกุ้งได้ลอบปล่อยลงเข้าท่วมขังผืนป่าทั้งแปลงกว่า 2,000 ไร่
โดย นายสุรินทร์ กัลชนะ อายุ 63 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางมะพร้าว ได้เล่าว่า พื้นที่บริเวณ หมู่ที่ 13 หมู่ที่ 14 หมู่ที่ 17 ในพื้นที่ตำบลนางพญาและตำบลบางมะพร้าว กว่า 2 พันไร่ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนี้ โดยก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าพื้นที่ในป่าพรุหรือป่าเสม็ดแห่งนี้เป็นแห่งปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ร่วมไปถึงชาวบ้านยังเข้ามาใช้ประโยชน์ในการตัดไม้เสม็ดไปทำลอบ เครื่องมือประมงอีกด้วย แต่ปัจจุบันนี้ตั้งแต่มีฟาร์มกุ้งและเริ่มมีการปล่อยน้ำเค็มลงในพื้นที่ป่าพรุนั้นส่งผลให้ปลาในพื้นที่ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดตายเป็นจำนวนมากและขึ้นมาลอยบริเวณผิวน้ำหรือที่เรียกว่าเมาน้ำและต้นไม้ที่อยู่ในป่าพรุเริ่มยืนต้นตาย ซึ่งอนาคตหากยังไม่ได้มีการแก้ไขตนเองมองหาพื้นที่บริเวณนี้คงไม่เหลือป่าพรุในได้เห็นกันอีกต่อไป
ด้าน ร.อ.กอบศักดิ์ นาคหาญ หัวหน้าชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าวสาร จ.ชุมพร (หน.ชรต.403) กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนได้ร้องเรียนไปในส่วนของสายด่วนความมั่นคง 1374 ในส่วนของกองการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าฟาร์มเลี้ยงกุ้ง หมู่ 13 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียงลงพื้นที่สาธารณะทำให้เกิดความเสียหายขยายวงกว้างไปถึงพื้นที่สวนของชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำเสียดังกล่าว ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีการต่อท่อน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียงของฟาร์มกุ้ง เป็นท่อขนาดใหญ่ประมาณ 60 ซม. จำนวน 5 ท่อ โดยมีการขุดฝั่งมาบริเวณใต้ดินข้ามถนนมายังบริเวณด้านหลังฟาร์ม และมีการขุดลำลางพื้นป่าสาธาราณะเพื่อให้น้ำไหลลงคลองบางมั่นเป็นระยะกว่า 2 กิโลเมตร
ร.อ.กอบศักดิ์ นาคหาญ กล่าวอีกว่า ตลอดลำลางที่ทางบริษัทขุดผ่าพื้นป่าสาธารณะยังพบว่าน้ำเป็นสีแดงสนิมขุ่นตลอดทั้งแปลง และยังพบว่าต้นเสม็ดยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก รวมไปต้นกกที่ขึ้นอยู่ในป่าพรุเป็นจำนวนมาก อยู่ในสภาพแห้งเหี่ยวตาย เนื่องจากน้ำเค็มที่ทางบริษัทปล่อยลงมาได้ท่วมขังอยู่ตลอดเวลาและหลังจากได้พูดคุยกับทางบริษัท มรกตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มกุ้ง กว่า 1 ชั่วโมง โดยมีตัวแทนของชาวบ้าน เข้าร่วมได้การหารือในครั้งนี้จนได้ข้อสรุปว่า ทางบริษัทจะเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะทำบ่อบำบัดเพิ่มอีก 1 บ่อ เพื่อให้ความเค็มเจือจางก่อนที่จะปล่อยลงแหล่งธรรมชาติ ทั้งนี้ต้องขอเวลา 7 วันจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะกลับไปใช้วิธีปล่อยน้ำที่บำบัดลงสู่ทะเลตามเดิม ที่ได้ทำข้อตกลงกับทาง อบต.และชุมชน ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน ส่วนเรื่องการเยียวยา ทางบริษัทรับปากจะช่วยเหลือตามความเป็นจริงต่อไป
ในขณะ นายสันต์ ฉิมหาด นายก อบต.ทุ่งมะพร้าว กล่าวว่า ผืนป่าแห่งนี้ ถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากจะมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมักจะมาหาปลา ปู ไปเป็นอาหารหรือบางคนก็หาเพื่อนำไปขาย อีกทั้งผืนป่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยต้นเสม็ด ชาวบ้านก็จะมาตัดไปไม้ไปทำลอบซึ่งทำเป็นเครื่องมือในการทำประมง แต่พอมีการปล่อยน้ำเสีย ทำให้กระทบระบบนิเวศเป็นอย่างมาก
นายสันต์ ฉิมหาด กล่าวอีกว่า ฟาร์มดังกล่าวได้สร้างความเดือนร้อนให้กับชุมชนมาตลอด ซึ่งตนเองมีบทบาทหน้าที่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือบ้าง ไม่ได้รับบ้าง ซึ่งในครั้งนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นบริเวณกว่า 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน พื้นที่กว่า 100 ไร่ โดยชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนบางคนก็ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว และชาวบ้านบางคนก็ได้ร้องเรียนไปยังส่วนกลาง จนเป็นที่มาของการลงมาตรวจสอบในครั้งนี้
ส่วนนายเจนณรงค์ รัศมี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตนเองมีสวนปาล์มน้ำมันอยู่ ประมาณ 10 กว่าไร่ โดยปาล์มที่เพิ่งจะปลูกได้เพียง 1 ปี ตายหมดทุกต้น สวนปาล์มใหญ่ที่ออกทลายแล้วนั้น ผลของปาล์มก็เน่าเสีย ต้นเหี่ยวเฉา ไม่เจริญเติมโต หรือที่เรียกว่าต้นตายนึ่ง เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันโดนน้ำเค็มท่วมขัง โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหาจนเมื่อโรงงานเปิด โดยเมื่อตนเองเจอกับปัญหาก็ได้เข้าไปคุยกับทางฟาร์มกุ้ง โดยทางฟาร์มก็รับทราบปัญหาและได้ให้รถแบ็คโฮเข้าไปทำการขุดร่องน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้าไปในสวน โดยทางบริษัทก็รับรู้ว่าน้ำเค็มได้เข้าไปในพื้นที่ชาวบ้านจริงๆ แต่การขุดรองน้ำก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้เนื่องจากน้ำเค็มได้เข้าไปท่วมขังต้นปาล์มแล้ว จากการเข้าไปพูดคุยนั้นตนเองอยากให้ทางบริษัทเข้ามาแก้ไขเรื่องการปล่อยน้ำเค็ม โดยมีการบำบัดให้ดีกว่านี้ รวมไปถึงการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
นายเจนณรงค์ รัศมี ยังกล่าวว่า การที่ตนเองและชาวบ้าน ต้องร้องเรียนไปยังส่วนกลาง ก็เพราะ ทุกคนไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เพราะเชื่อว่า จะแจ้ง จะร้องไปอย่างไร ปัญหาก็ยังคงเดิม ไร้การแก้ไข เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมักเข้าข้างนายทุนมากกว่าจะอยู่ข้างความเดือดร้อนของชาวบ้าน