"อนุทิน" ขึ้นเวทีสมัชชาอนามัยโลก เผย 4 เสาหลักหนุนคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า
24 พ.ค. 2566, 13:16
วันนี้ ( 24 พ.ค.66 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ณ Palais des Nations นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับผู้แทนจากสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) 194 ประเทศ
นายอนุทิน ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ ภายใต้หัวข้อ “ครบรอบ 75 ปี องค์การอนามัยโลก : การให้ชีวิตที่ดีต้องร่วมกันขับเคลื่อนสุขภาพดีถ้วนหน้า” (WHO at 75 : Saving lives, driving health for all) โดยชื่นชมบทบาท WHO ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เป็นองค์กรหลักร่วมกับนานาประเทศในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด และแสดงความยินดีที่ WHO ได้ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ไปแล้วในต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิก WHO เห็นถึง 4 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนไทยมีชีวิตที่ดีและบรรลุการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า คือ 1) การให้บริการด้านสาธารณสุขมูลฐานที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ 100% มีการให้บริการสาธารณสุข ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การเฝ้าระวัง การรักษา การฟื้นฟู และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
2) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับชนบท โดยผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขของทั้งกระทรวงสาธารณสุขและของหน่วยงานอื่น มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ขณะที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และพันธมิตรยังช่วยสนับสนุนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของการรักษาพยาบาล มหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีความสามารถและมีจริยธรรม
3) ปัจจัยสังคมและการค้า โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและพันธมิตรอื่น ๆ เช่น ภาคประชาสังคม สนับสนุนการป้องกันโรคไม่ติดต่อ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขยืนหยัดไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า
4) การมีส่วนร่วมทางสังคมและชุมชนทำให้เกิดความยืดหยุ่นของระบบสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า 1 ล้านคนเป็นกลไกสำคัญในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือทวิภาคีกับ H.E. Prof Cao Xuetao รัฐมนตรีช่วยคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Commission) สาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับการประชุมระดับสูงของเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13 (ระดับรัฐมนตรี) ซึ่งจะจัดในช่วงเดือน ส.ค. 66 ณ นครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ
รวมทั้ง เป็นสักขีพยานร่วมกับ Dr. Lia Tadesse รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ราชอาณาจักรไทย กับหน่วยงานด้านอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย โดยมี นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Ms. Heran Gerba อธิบดีหน่วยงานด้านอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม
บันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการสาธารณสุข ซึ่งเป็นสาขา ความร่วมมือหนึ่งภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551