นายกฯ ร่วมประชาสัมพันธ์งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 “ภูมิใจ ภูมิปัญญา สืบสาน งานหัตถศิลป์ล้ำค่า คู่พระบารมี”
23 พ.ค. 2566, 12:07
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (23 พฤษภาคม 2566) เวลา 08.45 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยคณะครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และตัวแทนเด็กและเยาวชนโขนคณะเพชรจรัสแสง เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14” ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2566 ณ โถงนิทรรศการ 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา
ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจ ภูมิปัญญา สืบสาน งานหัตถศิลป์ล้ำค่า คู่พระบารมี” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่งเสริมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยและงานศิลปาชีพจากทั่วประเทศ เพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิต พร้อมยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยขึ้นสู่ระดับชิ้นงานที่มีมูลค่าและเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงาน เทคนิคเชิงช่าง รวมถึงแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานศิลปหัตถกรรม ประกอบด้วย เครื่องถมเงิน เครื่องถมทอง เครื่องจักสานย่านลิเภา เครื่องเบญจรงค์ เครื่องโลหะ เครื่องไม้ และเครื่องรัก เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีสอบถามกระบวนการผลิต ขั้นตอนการทำ การขึ้นรูป รวมทั้งการออกแบบด้วยความสนใจ เน้นย้ำผลงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็น Soft Power ที่มีคุณค่า ฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมผลักดันและพัฒนาให้เป็นงานศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย ปรับรูปแบบ ลวดลาย ประยุกต์ให้สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมการขาย เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมภาคภูมิใจไปกับงานหัตถศิลป์ไทยล้ำค่า ร่วมสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานเพื่อให้คงอยู่สืบต่อไป โดยรัฐบาลพร้อมส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความแข็งแกร่งให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ขอช่วยกันสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักในคุณค่า ร่วมผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วโลกมากขึ้น อันจะมีส่วนช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนไทยอย่างยั่งยืน” นายอนุชากล่าว
สำหรับงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14” ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในโครงการศิลปาชีพ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี โดยจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าพื้นถิ่นต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ นิทรรศการ “มรดกสยามอันล้ำค่า” ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงและการสาธิตงานศิลปหัตถกรรมที่งดงาม ล้ำค่า หาชมได้ยากหรือใกล้สูญหาย รวมถึงการสาธิตงานช่างศิลปาชีพ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กิจกรรมสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย นิทรรศการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม workshop ให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองทำงานศิลปหัตถกรรมด้วย