สิ้นแล้ว ! "ทองร่วง เอมโอษฐ" ศิลปินแห่งชาติ ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชร ในวัย 80 ปี
13 เม.ย. 2566, 10:14
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 รายงานข่าวแจ้งว่า นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2554 เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 00.10 น.
ด้าน นางบุญเจือน เอมโอษฐ ภรรยาช่างทองร่วง เอมโอษฐ เปิดเผยว่า นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) ปี พ.ศ.2554 ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 00.10 น. เสียชีวิตด้วยอาการสงบที่บ้านพักตำบลช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี สิริอายุได้ 80 ปี
โดยก่อนหน้านี้ช่างทองร่วง เอมโอษฐ มีอาการอ่อนเพลีย จุกเสียดแน่นท้อง ไม่อยากรับประทานอาหารเป็นเวลาหลายวัน กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 12 เมษายน 2566 มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ครอบครัวจึงได้พาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี แพทย์ได้ทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าต่างๆ ในร่างกาย พบค่าตับสูงกว่าปกติ
กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ช่างทองร่วงมีความประสงค์ขอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านพักในตำบลช่องสะแก จนกระทั่งเวลา 00.10 น. ของวันที่ 13 เมษายน 2566 ช่างทองร่วง เอมโอษฐ ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบ เบื้องต้นทางครอบครัวมีความประสงค์ประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมที่บ้านพักตำบลช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
สำหรับ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) ประจำปี พ.ศ.2554 เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2486 ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2 ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสําลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ ชาวจังหวัดเพชรบุรี
นายทองร่วง เอมโอษฐ เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรี และต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคม โดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย
นอกจากนี้ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่างๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้นๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับสังคม ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายทองร่วง เกิดที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายยศ นางสำลี เอมโอษฐ์ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดโตนดราย อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หลังย้ายไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี นายทองร่วง หัดเขียนลายไทยกับพระมหาเสวก จันทร์แดง ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เรียนงานปูนปั้นกับอาจารย์พิน อินฟ้าแสง เรียนเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังกับอาจารย์อาภรณ์ อินฟ้าแสง จนชำนาญ
นายทองร่วง สร้างสรรค์ผลงานมากมาย อาทิ งานปูนปั้นหน้าบันศาลาการเปรียญด้านทิศใต้ วัดเขาบันไดอิฐ ซุ้มประตู หน้าต่างวัดชีว์ประเสริฐ ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบุรี วัดพลับพลาชัย วัดมหาธาตุวรวิหาร งานซ่อมแซมบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ผลงานส่วนใหญ่มักสอดแทรกแง่คิดหรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นไว้ด้วย