เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สจจ.กาญจน์ เคาะประตูฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพื่อประชาชนอุ่นใจ


30 มี.ค. 2566, 11:40



สจจ.กาญจน์ เคาะประตูฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เพื่อประชาชนอุ่นใจ




วันที่ 30 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ชุมชนวัดสมเด็จ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อโดย นางลักษมีกานต์ สิริกาญจนชัยกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมด้วยทีมสอบสวนควบคุมโรค (SRRT) ระดับจังหวัดลงพื้นที่รณรงค์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับอำเภอสังขละบุรี นำโดยนายสุทธิพร ศิวะเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรี นพ.กฤษณา วุทธยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี นายรังสิมันตุ์ ทองสวัสดิ์ สาธารณสุขอำเภอสังขละบุรี นายนาธาร ปานอุทัย ปศุสัตว์อำเภอสังขละบุรี พร้อมด้วยทีมอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอสังขละบุรี ร่วมลงพื้นที่รณรงค์แบบเคาะประตูบ้าน และระดมทีมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัข โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์นำวัคซีนฉีดให้กับสุนัขในพื้นที่ ทีม อสม.หมู่ที่ 3 ร่วมให้ความรู้ในการป้องกันโรคและมอบแผ่นพับความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าให้กับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนหลังวัดสมเด็จ หลังจากที่มีผู้เสียชีวิต สงสัยเป็นโรคพิษสุขบ้าและจากการสอบสวนโรคพบว่ามีประวัติถูกสุนัขในพื้นที่กัด 

   

นายแพทย์กฤษดา วุธยากร เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสังขละบุรีร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสังขละบุรีและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทีมลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคควบคุมโรคและให้ความรู้โรคพิษสุนัขบ้ากับชาวบ้านกลุ่มเสี่ยง  สำหรับผลการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย (เป็นผู้สัมผัสโดยตรง 15 ราย) เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดวัคซีนและออกใบนัดฉีดให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อป้องกันโรค ในส่วนของข้อมูลการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ชุมชนหลังวัดสมเด็จ ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2566 แมว 70 สุนัข 60 ตัว รวมทั้งสิ้น 130 ตัว หลังจากทราบผลการยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าจากกรมวิทยาศาสตร์แล้ว

นายแพทย์กฤษดา กล่าวต่อไปว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือ สุนัข ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากได้รับเชื้อจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค และอย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที

สำหรับประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ควรปฎิบัติดังนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี   ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง  พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัขหรือแมวที่ไม่มีเจ้าของ สำหรับประชาชนควรปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการมาตรการดังนี้

1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 

2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ

3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า

4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ

5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดหลายๆครั้ง อย่างน้อย 10 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ (เบตาดีน) หลังล้างแผล และห้ามปิดแผลโดยเด็ดขาด กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทาง/มาตรฐาน ฉีดวัคซีนให้ครบ ครบทุกเข็ม เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.