โฆษกฯ เผย! ความต้องการใช้ข้าว ปีการผลิต 66/67 ปริมาณรวม 29.296 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6%
21 มี.ค. 2566, 08:35
วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธาน นบข. และคณะกรรมการ นบข. รับทราบการกำหนดความต้องการใช้ข้าว ปีการผลิต 2566/67 ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ปริมาณรวม 29.296 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6% พร้อมรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 ณ 15 มี.ค. 66 ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 2.622 ล้านครัวเรือน รวม 7,858.91 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของวงเงินงบประมาณที่ ครม. อนุมัติ
นายอนุชากล่าวถึงการกำหนดความต้องการใช้ข้าว ปีการผลิต 2566/67 ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ว่า ผลการประชุมหารือโดยกรมการค้าภายใน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กำหนดความต้องการใช้ข้าว (Demand) ปีการผลิต 2566/67 ปริมาณรวม 29.296 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6% ที่มีปริมาณ 27.646 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนี้ (1) เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปริมาณรวม 15.577 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 10.125 ล้านตันข้าวสาร ประกอบด้วย บริโภคทั่วไป ปริมาณรวม 5.717 ล้านตันข้าวสาร และใช้ในอุตสาหกรรม ปริมาณรวม 4.408 ล้านตันข้าวสาร (2) เพื่อการส่งออก ปริมาณรวม 12.308 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 8 ล้านตันข้าวสาร (3) เพื่อทำเมล็ดพันธุ์ ปริมาณรวม 1.411 ล้านตันข้าวเปลือก
สำหรับความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566 มีดังนี้
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ ได้กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาแล้ว 23 งวด จาก 33 งวด ผลการดำเนินการ ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 2.622 ล้านครัวเรือน จำนวน 7,858.91 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (18,700.13 ล้านบาท)
2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 สามารถดึงอุปทานข้าวเปลือกได้รวม 5.140 ล้านตันข้าวเปลือก (69%) เป้าหมาย 7.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 8,022.69 ล้านบาท ดังนี้
2.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 ปริมาณข้าวเปลือก เข้าร่วมโครงการฯ 2.225 ล้านตันข้าวเปลือก (89%) เป้าหมาย 2.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 7,107.69 ล้านบาท
2.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 ปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการฯ 0.400 ล้านตันข้าวเปลือก (40%) เป้าหมาย 1.00 ล้านตันข้าวเปลือก) วงเงินงบประมาณ 375.00 ล้านบาท
2.3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการฯ 2.515 ล้านตันข้าวเปลือก (63%) เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 540 ล้านบาท
3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้เกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 4.640 ล้านครัวเรือน จำนวน 53,990.75 ล้านบาท (98%) วงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 55,083.09 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 4.678 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ นายอนุชากล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 ว่า ความคืบหน้าการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 ตามข้อสั่งการประธาน นบข. (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธาน นบข.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 มีบัญชาว่า “ให้ขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่สำคัญเป็นรูปธรรม” โดยกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ ข้าวไทย ปี 63-67 มีความคืบหน้าที่สามารถลดต้นทุนการผลิต/เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ โดยลดต้นทุนการผลิต ปี 2565 ต้นทุน 3,433 บาทต่อไร่ (5,787 บาทต่อตัน) เป้าหมายปี 2567 ต้นทุนไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ (ไม่เกิน 6,000 บาทต่อตัน) เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ปี 2565 ผลผลิตเฉลี่ย 593 กิโลกรัมต่อไร่ เป้าหมายปี 2567 ผลผลิตเฉลี่ย 600 กิโลกรัมต่อไร่
รวมทั้งตอบสนองความหลากหลายของตลาดข้าว โดย 1. ปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ลักษณะสั้นเตี้ยดกดี ปี 2563 - 2565 รับรองพันธุ์แล้ว 12 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 3 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ กข87 กข89 กข97 ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 7 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ กข85 มะจานู69 อัลฮัมดุลิลาฮ์4 กข91 กข93 กข95 และ กข101ข้าวหอมไทย 1 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ ขาวเจ๊กชัยนาท4 ข้าวโภชนาการสูง 1 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ ขาหนี่ 117 ทั้งนี้ กรมการข้าวมีแผนรับรองพันธุ์ข้าวเหนียวเพิ่มเติมอีก 2 พันธุ์ (รับรองพันธุ์แล้ว 1 พันธุ์) รวมเป็น 14 พันธุ์ และ 2. ประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อการพาณิชย์ เป้าหมายจัดงานปีละ 1 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 มีการมอบรางวัลให้ข้าว 3 ชนิด 6 สายพันธุ์ รับรองพันธุ์แล้ว 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ได้แก่ พันธุ์ RJ44 (RJ44 ขึ้นทะเบียนพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร) และ CNT15171ข้าวเจ้าพื้นแข็ง ได้แก่ พันธุ์ PSL16348 และ CNT07001 (CNT07001 รับรองพันธุ์โดยกรมการข้าว) ข้าวหอมไทย ได้แก่ พันธุ์ PTT13030 และ BioH95-CNT