เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ย้อนตำนาน "ไท-ยวน" เตรียมจัดงาน ส่งเสริมสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ”ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนาน 218 ปี ไท-ยวนสระบุรี ” 24-26 มีนาคม นี้


11 มี.ค. 2566, 05:34



ย้อนตำนาน "ไท-ยวน" เตรียมจัดงาน ส่งเสริมสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ”ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนาน 218 ปี ไท-ยวนสระบุรี ” 24-26 มีนาคม นี้




จังหวัดสระบุรีจัดแถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรมงาน “ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนาน 218 ปี ไท-ยวน จังหวัดสระบุรี” เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามในท้องถิ่นที่จะสูญหายไป และเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอำเภอเสาไห้ โดยมี นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมฯ กำหนดจัดงานวันที่ 24 – 26 มีนาคม 2566 ที่บริเวณวัดไผ่ล้อม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ของพี่น้องชาวไทยวน ที่นำการถวายสักการะบรรพชนด้วยการสร้างขบวนเครื่องไทยทานอันยิ่งใหญ่ประกอบ ด้วยก๋วยสลากสูงใหญ่อลังการ นำเป็นขบวนแห่ถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดไผ่ล้อม

ทั้งนี้ในงานจัดให้มีมหรสพตามประเพณี การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชนอำเภอเสาไห้ และชุมชนสระบุรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้ซื้อหาบริโภคสินค้าของท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ที่งดงาม และการจัดการแสดงแสงเสียงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาตำนานของชาวไทยวนสระบุรี การกำเนิดเกิดก่อจนถึงการอพยพจากเมืองเชียงแสนเข้าสู่ภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวเชียงแสนโบราณมาจวบจนทุกวันนี้

ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึงประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม1 ค่ำ เดือนเกี่ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทาง วัด และชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลากก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทําพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้าน จะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้า หรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ก๋วยสลาก”ประเพณีทำบุญสลากภัต บางพื้นที่เรียกว่า “ทานก๋วย” “ตานก๋วยสลาก” ไทยวนสระบุรีเรียกว่า “บุญกินข้าวสลาก” ซึ่งนิยมทำตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้เจาะจงช่วงเวลา ในอดีตมักทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรออก หรือช่วงออกพรรษา เป็นต้น โดยทางเจ้าภาพจะตระเตรียมต้นสลากภัต ซึ่งก็จะเป็นกระจาดไม้ไผ่ขนาดใหญ่ มีคานสำหรับช่วยกันหามไปยังวัด กลางกระจาดปักไม้ไผ่สูง ตกแต่งเป็นช่อฉัตรหลายชั้นอย่างสวยงาม ในอดีตจะมีการประกวดกันด้วยว่าหมู่บ้านใดจะทำต้นสลากภัตได้งดงามกว่ากัน ภายในกระจาดบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร เสื้อผ้า ผลไม้ ตามแต่ที่จะนำมาทำบุญโดยการถวายตานก๋วยสลากนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 อย่างด้วยกัน คือ อย่างหนึ่งเป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งเป็นการอุทิศไว้ให้ตนเองเมื่อล่วงลับในภายหน้า การถวายก๋วยสลากถือกันว่าจะได้อนิสงส์แรง เพราะเป็นการทําบุญแบบสังฆทาน ผู้ถวายไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง

วัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2212 สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีนามตามชื่อหมู่บ้าน เป็นวัดชนิดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2222 ตามหลักฐานบันทึกไว้ในทะเบียนของวัด แจ้งว่าตั้งอยู่ เลขที่ 16 หมู่ที่ 1 ตำบล (สิบต๊ะ) สวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี สร้างประมาณปี พ.ศ. 2122 สมัยสมเด็จพระนารายณ์ 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   โปรดให้กรมหมื่นเทพทรรักษ์และพระปราบ นำทัพไปตีพม่าออกจากเมืองเชียงแสน พ.ศ. 2347 พม่าแพ้ให้เผาเมืองเชียงแสน รวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนได้ จำนวนหนึ่ง อพยพลงมาต่างขยายกันอยู่ในระยะที่ผ่านมา เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทร์ ส่วนที่นำมา ได้โปรดให้ตั้งบ้านเรือนที่สระบุรีที่เสาไห้ เพราะครั้งนั้นเมืองสระบุรีอยู่เสาไห้ อีกส่วนหนึ่งไปอยู่บ้านคู่เมือง เมืองสระบุรี พวกที่มาจากเชียงแสนบ้านเดิมชื่อ “โยนกนาคนคร ” ภาษาถิ่นเรียกว่า ไทยวน ท้องที่ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ได้แก่ ตำบลเสาไห้ ( ไผ่ล้อม ) ตำบลสวนดอกไม้ ( สิบต๊ะ ) ตำบลต้นตาล ตำบลพระยาทด ตำบลท่าช้าง ตำบลศาลารีไทย ตำบลบ้านยาง และตำบลหัวปลวก

หัวหน้าผู้นำอพยพชาวเชียงแสนได้แก่ “ ปู่คัมภีระ ” และได้ตั้งบ้านเรือนพร้อมขุมกำลังผู้ใกล้ชิดอยู่ที่บ้านโบราณ ไผ่ล้อมอยู่คนละด้านของวัดไผ่ล้อม ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งตั้งปู่คัมภีระมีบรรดาศักดิ์เป็น “ พระยารัตนกาศ ” มีหน้าที่คุมกำลังส่งเสบียงให้พลรบยามเกิดศึกสงครามด้านทิศตะวันออก ( ศึกเขมร ) กองกำลังมีกองโตตั้งอยู่ 3 แห่ง อยู่ที่สี่คิ้ว 1 กอง โคกกราง 1 กอง และโคกแย้ 1 กอง และมีกองม้าอยู่ที่บ้านยาง 1 กอง ไว้เป็นหน่วยคุ้มกันกองเสบียง เมื่อมีขุมกำลังอำนาจหน้าที่เช่นนี้จึงเชื่อได้ว่า วัดไผ่ล้อมต้องได้รับการพัฒนาเสริมสร้างให้ดีขึ้น โดยฝีมือของชาวไทยวนมาจากเชียงแสน ที่ผู้เขียนได้เห็นอาคาร ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ปราสาทหอไตร ปราสาทเสาเดียว กุฏิ ธรรมาสน์ หอระฆัง ร้านบาตร และเจดีย์ ปราสาทสระหอไตรรื้อถมสระสร้างศาลาการเปรียญแทน ปราสาทเสาเดียวรื้อ ร้านบาตรรื้อออก กุฏิรื้อทำใหม่ เจดีย์รื้อไป 1 องค์  สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ สุสานธรรมขันธ์ เมรุเผาศพ ศาลาสุธรรม ศาลาโรงครัว ศาลาหน้าเมรุ โรงครัวโต๊ะเก้าอี้ ราชรถศพ กุฏิที่พักสงฆ์ 4 ที่ มณฑปประดิษฐานรูปเหมือน พระอธิการประถม ฐิตธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม

ผู้อพยพสายตระกูลปู่คัมภีระได้สืบต่อตำแหน่ง “ พระยารัตนกาศ ” ลูกหลานหลายคนมาสุดท้ายเป็นบุตรของพ่อเฒ่ามหาวงศ์ ได้เป็นนายอำเภอเสาไห้ คนที่ 2พ.ศ. 2439 ถึง พ.ศ. 2443  และได้ตั้งบ้านเป็นสำนักงานที่ทำการอำเภอเสาไห้อยู่ที่บ้านไผ่ล้อมนี้

 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.