นายกฯ ร่วมรณรงค์กิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ย้ำสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
7 มี.ค. 2566, 11:25
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (7 มีนาคม 2566) เวลา 09.10 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วย นายรวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคี-เยาวชน เข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรณรงค์กิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ร่วมสนับสนุนเด็กไทยมีทางเลือกทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรม
นายกรัฐมนตรีรับฟังนายหัสวรรษ สิงห์ลี อดีตรองนายกสภาเด็กและเยาวชน กล่าวถึงภาพรวมปัญหาของเยาวชนที่ไม่มีพื้นที่และทรัพยากรในการทำกิจกรรมในเวลาว่างตามความสนใจ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าเยาวชนไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรมหรือแสดงความสามารถมากเพียงพอ พื้นที่อยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก รวมทั้งกิจกรรมที่มียังไม่ตอบโจทย์ จากนั้น นายกรัฐมนตรีชมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้โดย อพวช. ที่เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนในรูปแบบกิจกรรมที่มีความหลากหลาย สนุกสนานและท้าทาย พร้อมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น กิจกรรมค่ายโค้ดดิ้ง ชวนสร้างประสบการณ์จริง ฝึกทักษะและเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตหุ่นยนต์เบื้องต้น กิจกรรมกล่องคาราวานวิทยาศาสตร์ ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่น ลงมือทำ กิจกรรม Museum Trail เส้นทางการเรียนรู้เกี่ยวกับน้ำ และชิ้นงาน “ตบสร้างเสียง” ตัวอย่างจากนิทรรศการ Science Caravan in the City พร้อมชมแพลตฟอร์มหางาน Part Time สำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้วันว่างให้เกิดประโยชน์
จากนั้น นายกรัฐมนตรีชมผลงานของนายณภัทร อัสสันตชัย (น้องเค้ง) ศิลปิน Doodle Art ที่เปลี่ยนวันว่างด้วยงานศิลปะผ่านภาพวาด Limited edition (ปิดเทอมสร้างสรรค์X Doodle Art) ซึ่งเป็นเยาวชนที่เป็นตัวแทนใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่ชอบจนประสบความสำเร็จ น้องเค้งใช้เวลาว่างทุ่มเทกับศิลปะมาตั้งแต่เรียนอนุบาล เป็นเครื่องมือระบายความเครียดและปลดปล่อยตัวเอง ค้นพบความสนุกของการสร้างโลกบนหน้ากระดาษ และต่อยอดจนสามารถสร้างรายได้จากการขายงานบน NFT ได้ตอนอายุ 17 ปี ปัจจุบันมีผลงานสามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยน้องเค้งได้มอบภาพผลงาน “เยาวชนแห่งอนาคต” แด่นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นตัวแทนของเยาวชนที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีชมโชว์ท่าเต้น “ปิดเทอมสร้างสรรค์ แบบนี้ใกล้บ้าน” โดยนางสาวธัญญรัตน์ วัฒนธรรม tiktoker ที่มีผู้ติดตามหลักแสน โดยนายกรัฐมนตรีได้ทำท่าสัญลักษณ์ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ร่วมกับเด็กและเยาวชนด้วย
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนและพัฒนาทำให้มีกิจกรรมดี ๆ ในช่วงปิดเทอมของเด็กและเยาวชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสพร้อมเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งได้แสดงออกถึงความสามารถที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต และเน้นย้ำถึงการศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตามความสนใจ เช่น การศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งองค์ความรู้ที่มีความสำคัญเพื่อการวิจัย พัฒนา ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และก่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป พร้อมขอให้ประชาสัมพันธ์รายละเอียดกิจกรรมฯ อย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเข้าร่วมได้ตามความสนใจ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือในรูปแบบออนไลน์ พร้อมอวยพรให้เด็กและเยาวชนประสบความสำเร็จ ขอให้ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น มีอนาคตที่ดีงาม รักษาสุขภาพเติบโตอย่างแข็งแรง มีแฟนคลับนับล้านทุกคน และเป็นกำลังใจให้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป” นายอนุชา” กล่าว
สำหรับกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมข้อมูลและกิจกรรมจากทุกหน่วยงาน ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องเวลาและขั้นตอนต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่า 2,000 กิจกรรมต่อปี มีพื้นที่เรียนรู้กว่า 500 แหล่งทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอาชีพ ฝึกงาน ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นต้น และกำหนดเปิดตัวกิจกรรมประจำปี 2566 ในวันที่ 11 มีนาคม นี้ เพื่อต่อยอดสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และยะลา กับ 25 จังหวัดเครือข่าย ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อันจะเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเองซึ่งจะทำให้กิจกรรมเกิดความยั่งยืน