หลักสูตรบริหารธุรกิจ ม.มหิดล ชวนสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม 12 เดือนชาวมอญ
4 มี.ค. 2566, 13:50
วันนี้ 4 มี.ค. 66 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมกับ ผศ.ดร.ธีรพงษ์ เที่ยงสมพงษ์ ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และนางอรพรรณ ศรีทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และสรุปด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ที่น่าสนใจ ของจังหวัดกาญจนบุรี ในความเชื่อด้านพระพุทธศาสนากับความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยเริ่มจากด้านความเชื่อในพระพุทธศาสนาของชาวมอญ เป็นวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นสุดชีวิต
ทั้งนี้ ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ชาวมอญให้ความสำคัญในพระพุทธศาสนาเห็นได้จากความเชื่อส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้สูงอายุในชุมชนเป็นสำคัญ ดังเช่นแนวความคิดและการริเริ่มประเพณีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากหลวงพ่ออุตตมะ (พระเกจิอาจารย์เชื้อสายมอญ) นอกจากนี้ ชุมชนชาวมอญ ณ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นศาสนสถานที่โดนเด่น
โดยหลวงพ่ออุตตมะได้สร้างไว้เป็นมรดกแก่ชุมชน เช่น วัดวังก์วิเวการาม ที่มีวัดและโบสถ์ที่ใหญ่ สงบ สวยงาม เหมาะแก่การถือศีลภาวนา เป็นที่ชื่นตาเย็นใจแก่ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวมีวิหารที่เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปหยกขาว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีน้ำหนักรวมหกตัน มีเจดีย์พุทธคยาจำลองจากอินเดีย ที่มีพระบรมสาริกธาตุของพระเจ้าที่ตระหง่านอย่างสวยงาม ซึ่งสามารถมองเห็นมาแต่ไกลก่อนเข้าถึงเขตตัวอำเภอสังขละบุรี และที่สำคัญมีสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือ สะพานมอญ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่ โดยความเชื่อในพระพุทธศาสนาและเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชนชาวมอญ สามารถแบ่งออกเป็น 12 เดือน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมชมและร่วมพิธี ได้ดังนี้
เดือนมกราคม ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวและลงแขกกวัดข้าว ช่วงเดือนยี่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวหลังจากเกี่ยวและเก็บข้าวเข้าลาน ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีทำ “ข้าวยาคู” ชาวมอญเรียกว่า “อะคากกะน้า ฮะปักเปิงยิกุ” ในช่วงเดือนสามจะมีพืชผลเกษตรได้เก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะพากันทำข้าวยาคูในวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมการทำข้าวยาคูในช่วงเวลาดังกล่าวได้
เดือนมีนาคม ประเพณีบูชาสักการะพระเจดีย์ เป็นงานประจำปีเพื่อการศักการะพระเจดีย์พุทธคยา ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดวังก์วิเวการาม เดือนเมษายน ประเพณีมหาสงกรานต์ เดือน 5 เป็นปีใหม่ของชาวมอญ ถือเป็นงานฉลองและเป็นการร่วมทำบุญและให้ทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมอญ ซึ่งชาวมอญจะนำทรายไปก่อเป็นเจดีย์ที่วัด โดยรวมกันเป็นองค์เดียวและจะยกฉัตรเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น พร้อมทั้งทำบุญกรวดน้ำ
จากนั้นจะมี ประเพณียกฉัตรเจดีย์ทราย ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญที่ร่วมพิธีจะแต่งหน้าพร้อมสวมชุดมอญสีสันสดใส ร่วมแห่ฉัตรยอดเจดีย์ทรายจากวัดไปยังเจดีย์ทรายที่บริเวณลานเจดีย์พุทธคยา ซึ่งประเพณีดังกล่าวถือเป็นเอกลักษณ์ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน
เดือนพฤษภาคม ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ จัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ทั้งนี้ชาวมอญจะให้การปฏิบัติกับต้นศรีมหาโพธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า โดยเชื่อว่าผู้ใดบำรุงกราบไหว้ สักการบูชา ก็เสมือนว่าได้บำรุง กราบไหว้ สักการะ บูชา พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ประเพณีออกร้านตลาดนิพพาน ตรงกับวันวิสาขบูชา จัดขึ้นช่วงเย็นชาวบ้านจะออกร้านโดยนำผลไม้ ขนม น้ำดื่มมาตั้งร้าน ผู้มาร่วมพิธีหลังสมาทานศีลจะมารับของจากร้านต่าง ๆ เปรียบเสมือนการนำบุญมาแลกกับอาหารดังกล่าว ผู้ออกร้านก็จะได้บุญแทนเงิน
เดือนมิถุนายน ประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์ จะมีประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และประเพณีบรรพชาอุปสมบท ในช่วงนี้เป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน ชาวมอญนิยมบรรพชาอุปสมบทแก่บุตรชายของตนเอง ส่วนประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ โดย พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออุตตมะ จะมาพร้อมกันที่วัดวังก์วิเวการาม เพื่อมาขอขมาพระเถระผู้ใหญ่
เดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา ชาวมอญจะถือดอกไม้ ผ้าอาบน้ำฝน เทินเครื่องไทยธรรมมาถวายพระ ซึ่งจะมีพระภิกษุเดินเป็นแถวตามวิหารคด ลงโบสถ์ เดือนสิงหาคม ประเพณีบุญข้าวนิธิ เป็นเดือนแห่งการเก็บทรัพย์ มีประเพณีบุญหม้อนิธิ (นิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์) ชาวมอญจะทำบุญด้วยการถวายหม้อนิธิ คือ บรรจุวัตถุทานตามต้องการ ได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยา และของกินของใช้อื่น ๆ ลงในหม้อ จากนั้นทำการฝังเหมือนเป็นขุมทรัพย์ ประเพณีดังกล่าวเป็นความเชื่อของชาวมอญ
เดือนกันยายน ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระรัตนตรัย ชาวมอญวัดวังก์วิเวการามยังคงสืบสานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์เช่นเดียวกับชาวมอญในอดีต โดย ช่วงเช้าชาวบ้านมอญถือถาดเครื่องบูชาที่ได้เตรียมไว้ไปยังลานวัดหรือลานเจดีย์ จากนั้นจึงได้นำเครื่องบูชาใส่เข้าในเรือสะเดาะเคราะห์ ธงตุงกระดาษสีปักไว้ที่ขอบเรือ มีการปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ ตามบ้านเรือนและรายทางก็จะประดับโคมเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ประเพณีดังกล่าวเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์และจุดเทียนอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายในชีวิตได้ผ่านพ้นไป ซึ่งประเพณีดังกล่าวจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีที่ชาวมอญต้องการถวายเภสัช 5 ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น น้ำมันงา แก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษา ก่อนออกพรรษา 1 เดือน เพื่อใช้ปรุงยา โดยเชื่อว่าการถวายเภสัชยารักษาโรคจะได้รับผลบุญคือเป็นคนมีโรคน้อย โดยประเพณีดังกล่าวจัดยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมาช้านาน
เดือนตุลาคม ประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ เป็นงานบุญฉลองวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากโปรดพุทธมารดาที่เทวโลกดาวดึงส์ 1 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นตรงกับวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
เดือนพฤศจิกายน ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีนี้จะมีช่วงเวลาการทอดกฐินเพียง 1 เดือน โดยเรียกตามภาษามอญว่า “อะแลกะท่อน” แปลว่า ทอดกฐินในเดือนสิบสอง ชาวมอญจะรวมตัวกันไปจัดตั้งกองผ้าป่าและร่วมกันตัดเย็บจีวร อังสะ สบง และผ้าผืนยาว ภายในหนึ่งเดือนหลังวันปวารณาออกพรรษาของพระภิกษุสงฆ์จะเป็นเทศกาลทอดกฐิน
และ เดือนธันวาคม ประเพณีตำข้าวเม่า "มอญตำข้าวเม่า " จัดขึ้นในช่วงเดือนอ้ายใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว "ข้าวเม่า" หรือภาษามอญว่า "อะงาน" ได้มาจากรวงข้าวสีเขียวไล่มาจนถึงสีเขียวตกน้ำตาล เรียกว่าข้าวน้ำนม ส่วนข้าวเหนียวเริ่มเป็นเมล็ดข้าวอ่อน ๆ เหมาะสำหรับตำข้าวเม่า มีทั้งข้าวเม่าข้าวเหนียวและข้าวเหนียวดำ ประเพณีตำข้าวเม่าสืบทอดมาตั้งแต่อดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อทำอาหารถวายพระ นอกจากนี้ประเพณีดังกล่าวยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวและชุมชน สามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวและเป็นของฝากของที่ระลึกได้
ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เสนอ ความเห็นในการการท่องเที่ยว ของจังหวัดกาญจนบุรี กับ ชุมชนชาวมอญ อำเภอสังขละบุรี ว่า “ จังหวัดกาญจนบุรี มีศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ตลอดจนเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวชุมชน หากต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จต้องมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่
ควรมีการจัดโปรแกรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนักท่องเที่ยวควรให้ความสำคัญ ตระหนัก และมีจิตสำนึกในการท่องเที่ยวชุมชน เช่น การจัดการขยะ การปฏิบัติตามประเพณีและวิถีชุมชน เพื่อร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของ อ.สังขละบุรี
ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก ร่วมสร้างประสบการณ์จากมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน เช่น โปรแกรมการท่องเที่ยววัดวังก์วิเวการาม เจดีย์พุทธคยา ร่วมกับประเพณีสงกรานต์มอญในเดือนเมษายนของทุกปี หรือให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำข้าวเม่า เพื่อยกระดับของฝากของที่ระลึกชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากเป็นการส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสัมผัสชาติพันธุ์ ควรจัดทำเป็นปฏิทินกิจกรรม 12 เดือน พร้อมทั้งส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป ” ผู้สนใจ สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม โดยส่ง อีเมล์ ได้ที่ ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี chaloempon.sri@mahidol.ac.th
โอกาสนี้ คุณ อรัญญา เจริญหงษ์ษา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสังขละบุรี ได้พูดถึงวันมาฆะบูชา กิจกรรมรดน้ำต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งจะมีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่อำเภอสังขละบุรี เชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมได้ในแต่ละปีอาจจะไม่ตรงกัน ต้องสอบถามไปยังหน่วยงาน ททท. หรือประชาชนชในพื้นที่ได้....คุณอรัญญา เจริญหงส์ษา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเอภสังขละบุรี กล่าวทิ้งท้าย