บุกจับพ่อค้าตัวเงินตัวทอง ยึดของกลางนับ 100 ตัว
28 ก.พ. 2566, 16:34
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. พ.ต.อ.อริยพล สินสอน รอง ผบก.ปทส.พ.ต.อ.วิญญู แจ่มใส ผกก.2 บก.ปทส. พ.ต.อ.ภัทรวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ปทส. นำโดย พ.ต.ต.นัธทวัฒน์ สุรนารถ สว.กก. 2 บก.ปทส. นายพัฒนยุทธ เพ็ชรมณี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 274 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
พบนายมนต์ เณรจาที อายุ 73 ปี รับว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งนายมนต์ ได้พาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในบริเวณบ้าน จากการตรวจสอบพบพบสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ตัวเหี้ยที่ยังมีชีวิตอยู่ในถุง จำนวน 32 ตัว ซากตัวเหี้ยวางกองอยู่กับพื้นและอยู่ในกะละมัง จำนวน 59 ซาก เต่านา จำนวน 20 ตัว เต่าหับ จำนวน 2 ตัว และเต่าดำ จำนวน 6 ตัว อยู่ในโอ่งมังกร และยังพบชาวบ้าน 5 คน ที่มารับจ้างชำแหละ แปรรูป ตัวเหี้ย
จากการสอบถามคนงานได้ความว่าพวกตนมารับจ้างนายมนต์ฯ ชำแหละตัวเหี้ยได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท โดยไม่ทราบว่าสัตว์ดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีไว้เป็นความผิดและได้มาถูกต้องหรือไม่อย่างไร กลุ่มของตนเป็นแค่คนรับจ้างเท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบอุปกรณ์ที่ใช้ในการชำแหละซากสัตว์ จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วยมีด จำนวน 14 เล่ม ขวาน 1 เล่มค้อน จำนวน 2 ด้าม เครื่องชั่งกิโล จำนวน 1 เครื่อง ไม้ทุบ จำนวน 1 ด้าม ถังแก๊สหุงต้ม จำนวน 4 ถัง พร้อมหัวที่ใช้สำหรับเผาแก๊ส จำนวน 3 หัว และ ถุงตาข่ายพลาสติกสีฟ้าไว้สำหรับใส่ตัวเหี้ย จำนวน 32 ถุง
สอบถามนายมนต์ เจ้าของบ้านให้การรับว่าตัวเหี้ยและเต่าที่พบเป็นของตนจริง โดยได้รับซื้อมาจากชาวบ้านเพื่อทำการแปรรูปแล้วจำหน่ายให้กับนายประสิทธิ์ เหล็กเพชร อายุ 67 ปี พ่อค้าที่มารับซื้อ ซึ่งได้มานั่งรออยู่กับตน เพื่อรอรับของนำไปจำหน่ายต่อ โดยนายมนต์ไม่มีอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ทราบว่าสัตว์ป่าดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 และการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 92
เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานายมนต์ เจ้าของบ้าน ข้อหา “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซี่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ มาตรา 29 ประกอบมาตรา 89 ข้อหา “ร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนนายประสิทธิ์ฯ ให้การรับว่าตนเองเป็นเพียงผู้มารับซื้อซากเหี้ยที่ได้ทำการชำแหละแล้ว จำนวน 59 ตัว เพื่อนำไปขายต่อที่ตลาดแสนตุ้ง ตลาดตัวเมืองตราด และตลาดคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเหี้ยที่ยังมีชีวิตอยู่และเต่าจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหานายประสิทธิ์ฯ คนที่มารับซื้อ “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซี่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 89 ข้อหา ร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
สำหรับพฤติการณ์แห่งคดี เจ้าหน้าที่กองกำกับการ 2 และเจ้าหน้าที่ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแจ้งจากสายลับ (ไม่ประสงค์จะออกนาม) แต่ต้องการรางวัลนำจับ ได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการลักลอบซื้อขาย เพื่อการค้าและมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน (ตัวเหี้ย, เต่าบึงหัวเหลืองและเต่านา) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปทส. จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานสนับสนุน การป้องกันและปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้ร่วมกันเข้าทำการตรวจสอบบ้านเลขที่ 274 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง กระทั่งพบของกลางดังกล่าว จึงยึดไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเปิดเผยว่าตั้งแต่มีการจับกุมมาครั้งนี้นับเป็นรายแรกที่ได้ของกลางเป็นตัวเหี้ยมากที่สุด