เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)




สี จิ้นผิง ทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์สูงสุด แด่ กรมสมเด็จพระเทพฯ เนื่องในโอกาสการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 70 ปี


30 ก.ย. 2562, 08:45





สี จิ้นผิง ทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์สูงสุด แด่ กรมสมเด็จพระเทพฯ เนื่องในโอกาสการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 70 ปี



ที่ 29 ก.ย. 62  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ “รัฐมิตรภรณ์” แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวาระการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ครบรอบ 70 ปี ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง วันที่ 1 ต.ค. 2562

ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตอนหนึ่งทรงยกบทกวีของจางจิ่วหลิง กวีสมัยราชวงศ์ถังขึ้นมากล่าวถึงไมตรีระหว่างไทยจีนว่า  "สหายไม่มีใกล้ไกล หมื่นลี้ยังเป็นเพื่อนบ้าน" (相知无远近,万里尚为邻) หมายความว่า เพื่อนที่ดียังรู้สึกใกล้ชิด แม้จะอยู่ห่างไกลนับหมื่นลี้ 

กวีสองบาทนี้มาจากบทชื่อ 送韦城李少府 มักถูกยกขึ้นมาเอ่ยถึงเมื่อกล่าวถึงสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ประเทศ แต่ที่มานั้นหมายถึงสหาย 2 คนที่กำลังจะจากกันไกล หากระยะทางไม่ได้ทำให้ทั้งคู่รู้สึกห่างเหิน

จางจิ่วหลิง เป็นกวีเอกสมัยถัง เป็นขุนนางตงฉินสมัยถังเสวียนจงฮ่องเต้ เคยมีตำแหน่งเป็นถึงมหาเสนาบดี มีความสามารถด้านการปกครอง และด้านวรรณศิลป์เป็นเลิศ ที่สำคัญคือมีความเถรตรงรักบ้านเมืองยิ่งนัก 


ครั้งหนึ่ง ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าถังเสวียนจงเมื่อปี 736 บรรดาเจ้าฟ้า เจ้าพระยาต่างถวายพระฉายประดับเพชรนิลจินดาแก่ฮ่องเต้ นัยว่าเพื่อให้ทรงตรวจสอบพระองค์เอง ซึ่งตรงตามพระอุปนิสัยที่รักความเป็นธรรมและเที่ยงตรงในช่วงต้นรัชกาล

แต่จางจิ่วหลิง เห็นว่าการมอบพระฉายยังไม่อาจทำให้ฮ่องเต้ทรงตรวจสอบพระองค์เองได้ดีพอ จึงประพันธ์งานเขียนที่ชื่อว่า กระจกทองส่องพันปี (千秋金鉴录) อันคำว่า พันปี หรือจริงแล้วคือคำว่า พันศาร์ท (千秋) คือคำถวายพระพรให้ฮ่อองเต้ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนานนับพันปี 

แต่ขณะเดียวกัน คำว่า พันศาร์ทยังหมายถึงประวัติศาสตร์ในรอบพันปี เพราะคำว่า ชิว (秋) อันแปลว่าฤดูศาร์ท เมื่อคู่กับคำว่า ชุน (春) อันแปลว่าฤดูวสันต์เป็นคำว่า ชุนชิว (春秋)โดยนัยหมายถึงความแปรเปลี่ยนของฤดูกาล มีผลิบาน มีโรยร่วง อุปมาดั่งประวัติศาสตร์ของราวงศ์มีรุ่งโรจน์ และโรยราเช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้ คำว่า ชุนชิว ในสมัยก่อนจึงหมายถึงบันทึกประวัติศาสตร์ จางจิ่วหลิง เล่นคำอย่างมีนัยยะแหลมคม เพราะงานเขียนนี้ว่าด้วยประวัติศาสตร์และบริหารรัฐกิจจากประสบการณ์แต่โบราณ มีความยาวถึง 5 เล่ม 

ปรากฎว่าพระเจ้าถังเสวียนจงฮ่องเต้ทรงโปรดมาก ถึงกับมีโองการสรรเสริญความภักดีของจางจิ่วหลิง 

ทว่าต่อมา ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าถังเสวียนจงทรงลุ่มหลงนารีคือหยางกุ้ยเฟย ขุนนางกังฉินสบช่องบ่อนทำลายคนเก่ง จางจิ่วหลิงที่เถรตรงจึงถูกกังฉินใส่ความ จนฮ่องเต้หูเบาลดตำแหน่งไปปกครองเมืองเล็ก จนตายในหน้าที่ 

หลังจากถูกเนรเทศไปเป็นข้าหลวงอยู่ที่จิ่งโจว พระเจ้าถังเสวียนจงก็ยังคำนึงถึงเขาอยู่มิได้ขาด เมื่อใดก็ตามที่มีการเสนอชื่อขุนนางให้รับตำแหน่งใหม่ พระองค์จะไถ่ถามเสมอว่า "ซื่อสัตย์เทียมเท่ากับจางจิ่วหลิงหรือไม่?" แสดงให้เห็นถึงความตรงไปตรงมา และจงรักภักดีของกวีท่านนี้อย่างยิ่ง

ในเวลาต่อมาถังเสวียนจงฮ่องเต้ ประสบกับชะตากรรมเลวร้าย ต้องหนีตายจากเมืองหลวงจากเหตุการณ์กบฏอันลู่ซาน พานนึกถึงคำเตือนของจางจิ่วหลิง จึงประกาศยกย่องสูงส่งอีกครา พร้อมส่งเครื่องบูชาดวงวิญญาณ แม้นอยู่ระหว่างจรลีหนีจากกบฎ เหตุเพราะพระองค์สำนึกที่มองคนผิดไป 

ย้อนกลับมาที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เราทราบว่าทรงปรีชาในด้านอักษรศาสตร์จีน แต่ยังไม่มากเท่ากับการที่ทรงช่วยเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและจีนอย่างดียิ่ง ในคำประกาศถวายเหรียญมิตรภาพก็ยังกล่าวว่า ทรงเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ประเทศจีนนับไม่ถ้วน (走遍中国大江南北)

สำหรับคนจีนบางคนนั้น เมื่อบอกว่ามาจากไทย เขาจะรู้ได้ว่าเป็นประเทศเดียวกับ "ซือหลินทงกงจู้" เจ้าฟ้าไทยที่รักวัฒนธรรมจีนยิ่ง

ทั้งนี้ เครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ฝ่ายจีนจะมอบให้ชาวต่างประเทศที่สร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทรงเป็นบุคคลสำคัญต่างประเทศในจำนวน 6 คน ซึ่งในครั้งนี้ประกอบด้วยบุคคลสำคัญระดับผู้นำและอดีตผู้นำ รัฐบาล องค์กร และนักการศึกษา ที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ดังล่าว 










©2018 ONBNEWS. All rights reserved.