นายกฯ ย้ำ! เร่งนำผู้สูงอายุมารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ตามคำแนะนำ สธ. สามารถลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
14 ก.พ. 2566, 09:46
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยว่า การใช้วัคซีนโควิด 19 ของไทย ตั้งแต่การฉีดเข็มแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 จนถึงขณะนี้ (ณ 10 ก.พ. 66) ไทยฉีดวัคซีนในภาพรวมแล้ว 146,590,102 โดส โดยการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มแรกจนถึง 100 ล้านโดส ใช้เวลา 10 เดือน ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก และมีข้อมูลวิจัยยืนยันว่า การฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสดังกล่าว สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 5 แสนคน ทั้งนี้ การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ จากนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้สั่งการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) มาโดยตลอด
นายอนุชากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในปี 2566 สัปดาห์ที่ 6 (ณ 11 ก.พ. 66) นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่า มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 392 คน เฉลี่ยรายวัน จำนวน 56 ราย/วัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 98 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 66 คน และผู้เสียชีวิต 12 คน เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 3,709 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) ผู้เสียชีวิต สะสม 225 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) โดยผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุทั้งผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย ได้รับตั้งแต่ 1-3 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) เกิน 3 เดือน ดังนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะค้นหาผู้สูงอายุให้มารับเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ซึ่งทุกกลุ่มอายุออกมาใช้ชีวิตปกติ และใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการไปหาผู้สูงอายุ จึงควรที่จะเร่งนำผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงและเป็นกลุ่มอายุที่เสี่ยงมากขึ้นในตอนนี้ และในปี 2566 ยังเป็นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางการปรับให้เป็นการฉีดวัคซีนประจำปี เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะเน้นการฉีดกลุ่มเสี่ยงเช่นเดิม
“นายกรัฐมนตรีย้ำขอให้ประชาชนทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการนอนโรงพยาบาล ลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อ แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด -19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน มาจากประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้รับ ประชาชนจึงยังควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน นอกจากนี้ ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน” นายอนุชา กล่าว
สำหรับความครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ณ วันที่ 10 ก.พ. 66 มีการฉีดสะสมกว่า 146.5 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 ครอบคลุม 82.8% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 77.8% เข็มที่ 3 ครอบคลุม 39.2% เข็มที่ 4 ครอบคลุม 9.44% เข็มที่ 5 ครอบคลุม 1.5% และเข็มที่ 6 ครอบคลุม 0.1%