"อธิบดี ปภ." เปิดการฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระงับอัคคีภัยในอาคารสูง จ.เชียงใหม่
11 ก.พ. 2566, 12:30
วันนี้ (11 ก.พ. 65) เวลา 09.30 น. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (การฝึกระงับอัคคีภัยในอาคารสูง) โดยมีนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมในพิธีฯ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อัคคีภัยเป็นภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรง รวมถึงสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยนั้นได้เกิดอุบัติภัยหรือสาธารณภัยขึ้นในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอุทกภัย วาตภัยและไฟป่าหมอกควันรวมถึงอัคคีภัย ปัจจุบันประเทศไทยมีการก่อสร้างอาคารสูงหลายชั้นในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดอัคคีภัยจึงมีความเสี่ยงในการเกิดความสูญเสียทั้งเรื่องของทรัพย์สิน สภาพแวดล้อม รวมถึงความสูญเสียต่อชีวิตของพี่น้องประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ให้แนวนโยบายในการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่ผู้ปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด "เตรียมให้พร้อม ฝึกซ้อมเป็นประจำ ลงมือทำได้ทันที" เพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการสาธารณภัย สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
การฝึกซ้อมฯ ดังกล่าว เป็นการฝึกสถานการณ์สมมติ โดยจำลองสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ภายในอาคาร ณ คอนโดเกษตร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนฯ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสันทราย สถานีตำรวจภูธรสันทราย อำเภอสันทราย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ศูนย์กู้ภัยพิงค์นคร ชมรมกู้ภัยทางสูง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน และเครื่องมืออุปกรณ์ เข้าฝึกซ้อมแผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง เพื่อทดสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ ความพร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติการระงับเหตุอัคคีภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ยังได้จำลองเหตุการณ์ในการขอรับสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณ KA – 32 เพื่อออกปฏิบัติการฉีดน้ำดับไฟในแนวราบ เพื่อควบคุมเพลิงในอาคารสูงอีกด้วย
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ เป็นการซักซ้อมแบบเต็มรูปแบบ โดยทุกขั้นตอนมีการบันทึกสถิติเวลาปฏิบัติงานของทุกหน่วยที่ร่วมปฏิบัติ เพื่อให้ทราบจุดบกพร่องและช่องว่างในการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงจะมีการถอดบทเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น