นายกฯ เปิดงาน "ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" ย้ำ 3 บทบาทกองทุนหมู่บ้านฯ
10 ก.พ. 2566, 19:08
วันนี้ ( 10 ก.พ.66 ) เวลา 14.15 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ภายใต้กรอบแนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน สมาชิกกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้แทนหน่วยงานภาคีต่าง ๆ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า ภารกิจหลักของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างให้มีความเข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และความจำเป็นเร่งด่วน พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของชุมชน ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับฐานรากของประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคเกษตร เพราะถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ เมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและแนะแนวทางประกอบอาชีพที่ถูกต้องเหมาะสม จะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง นำไปสู่การสร้างชาติอย่างมั่นคงได้ ในขณะเดียวกันสมาชิกต้องพร้อมปรับตัวสู่การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกองทุนหมู่บ้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตอนหนึ่งว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีการบริหารจัดการด้วยกระบวนการพึ่งพาตนเองตามภูมิปัญญาและทุนทางสังคม มีการเรียนรู้และพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อการแก้ไขปัญหา สร้างศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน อันเป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ พร้อมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างการลงทุน มีรายได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนผ่านการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐและโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เเละเศรษฐกิจสีเขียว ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยซน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ สร้างเศรษฐกิจฐานราก และสร้างชาติให้มั่นคงร่วมกันต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตัวอย่าง จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ 1) กองทุนหมู่บ้านบ้านมาบมะขาม หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ 2) กองทุนหมู่บ้านวัดพระศรีอารย์ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 3) กองทุนหมู่บ้านวังไทร หมู่ที่ 11 ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 4) กองทุนหมู่บ้านดอนพะธาย หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และมอบรางวัลโครงการตามแนวทางประชารัฐตัวอย่าง จำนวน 4 รางวัล จาก 4 ภาค ดังนี้ 1) ภาคเหนือ โครงการอนุรักษ์ต้นน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ กองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก 2) ภาคกลาง โครงการน้ำดื่มเมล็ดฝน กองทุนหมู่บ้านบางพลี หมู่ที่ 9 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 3) ภาคใต้ โครงการร้านค้าชุมชนประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านโฮ๊ะ หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการน้ำดื่ม กองทุนหมู่บ้านนาสีนวลเหนือ หมู่ที่ 11 ตำบลนาสีนวล อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จัดตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์ให้เป็นศูนย์กลางโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชน โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนมาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ สิ่งที่เป็น“จุดแข็ง” คือ การให้โอกาสประชาชนได้บริหารจัดการ พัฒนาหมู่บ้านและชุมชนของตน ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยปัจจุบันมีหมู่บ้านและชุมชน จำนวน 79,610 แห่ง มีสมาชิกกว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศในภาพรวม ซึ่งคนไทยทุกคนมีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาท้องถิ่น มีรายได้ที่สูงขึ้น มีความมั่นคง และร่วมกันแก้ปัญหา ต่อสู้กับอุปสรรค โดยไม่ท้อแท้ด้วยความสุจริตใจ นอกจากนี้ แต่ละกองทุนจะต้องมีการปรับวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสม มีการบริหารจัดการแบบพุ่งเป้าอันจะก่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยรัฐบาลได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของกองทุนหมู่บ้าน 3 ประการ ได้แก่ 1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการลงทุน สร้างอาชีพ สร้างงาน และรายได้ให้กับชุมชน เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เชิงวัฒนธรรม เชิงอนุรักษ์ เชิงสุขภาพ การพัฒนางานฝีมือที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินค้า OTOP เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมการค้าขายผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ได้เร่งลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และอินเทอร์เน็ต เพราะเป้าหมายลูกค้าไม่ใช่เพียงแค่การจำหน่ายให้คนในพื้นที่ แต่หมายถึงคนนอกพื้นที่ด้วย 2) บทบาทในด้านการสนับสนุนการออมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงพื้นฐานของชีวิตและครัวเรือน สร้างกำไร 2 ต่อ คือ สมาชิกได้ออมเงิน ในขณะที่ชุมชนได้แหล่งเงินทุนเพิ่ม เป็นธนาคารประจำหมู่บ้านและชุมชน และ 3) ส่งเสริมการจัดระบบสวัสดิภาพ สร้างสวัสดิการของหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิต โดยรัฐบาลจึงมุ่งส่งเสริมการ “ระเบิดจากข้างใน” และสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการของประชาชนด้วยตัวเอง รวมไปถึงการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งอื่น ๆ เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือการปลูกข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มผลผลิตสร้างรายได้ ช่วยส่งเสริมการผลิตการจำหน่ายและการแปรรูปผ่านช่องทางออนไลน์โดยรัฐบาลได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้พัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่สะดวกเพื่อเป็นช่องทางและโอกาสในการสร้างความเท่าเทียม พร้อมกล่าวย้ำถึงผลการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านฯ ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีความก้าวหน้าและมั่นคงตามลำดับ และแสดงความเชื่อมั่นว่าในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 นั้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน เป็นการวางรากฐานที่สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่ความเจริญ
นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจอย่างยิ่งในการทำให้ประชาชนมีรายได้ที่สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมตาม 6 ยุทธศาสตร์หลัก ขอให้ทุกคนร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็ง สิ่งสำคัญที่สุดคือความรักความสามัคคีความปรองดอง ด้วยสายเลือดของไทยที่ต้องร่วมกันต่อสู้ เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคนและถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ร่วมกันทำให้หมู่บ้าน ชุมชน สังคมและประเทศชาติสามารถพึ่งตนเอง และมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ความสามัคคีปรองดองของคนไทยทุกคนจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้มีความก้าวหน้า และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยทุกคน
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดงานโดยการปักธงสัญลักษณ์การจัดงานแสดงถึงความสำเร็จของการดำเนินงานกองทุนฯ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และพร้อมสานต่อความสำเร็จสู่ทศวรรษที่ 3 เพื่อให้ประชาชนในชุมชนทั่วไทยมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตทุกด้าน ผ่านการสนับสนุนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ แล้วนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการ 3S (3S STRATEGY) เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ (SMART HISTORY) สร้างแรงบันดาลใจ (SUCCESS HISTORY) และสร้างอนาคตยั่งยืน (STRATEGY FOR SUSTAINABILITY) ให้ความรู้แนวทางนโยบายแก้จน สร้างงาน สร้างเงินในอนาคต ชมโครงการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG โมเดล สร้างความเข้มแข็งจากฐานรากเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลกต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1) เกษตร-อาหาร 2) พลังงาน-วัสดุ-เคมีชีวภาพ 3) สุขภาพ-การแพทย์ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมชมโครงการข้าวรักษ์โลก เกษตรอัจฉริยะ และโครงการโคนำร่องสู่โครงการ “โคล้านครอบครัว” และเยี่ยมชมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากตลาดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่าง ๆ นำเสนอสินค้าเด่นและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ตุ๊กตาชาววังจากจังหวัดอ่างทอง ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครื่องจักสาน จังหวัดสกลนคร งานผ้าทอมือจังหวัดกาฬสินธุ์ ดาบเหล็กน้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ กระเป๋าสานกระจูด จังหวัดพัทลุง เป็นต้น ชมกิจกรรม Workshop “Young Gen กทบ.” เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล ให้ความรู้เสริมทักษะสู่การสร้างโอกาสให้กองทุนหมู่บ้านเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตลอดจนประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของกองทุนฯ รวมถึงนำเสนอแผนงานและนโยบายสำคัญในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 พร้อมมอบรางวัลให้กับสมาชิกกองทุนต้นแบบ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นตัวอย่างแก่สมาชิกให้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นสร้างการมีส่วนร่วมพร้อมสร้างแรงจูงใจในการบริหารกองทุนหมู่บ้านและขุมชนเมืองให้เกิดความเข้มแข็ง ร่วมส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ จำนวน 79,610 กองทุน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 300,000 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกกว่า 13 ล้านคน