สบค.เผย ครอบครอง "บุหรี่ไฟฟ้า" คุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า
2 ก.พ. 2566, 16:27
2 ก.พ. 66 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สบค.) เผยแพร่เอกสารคำชี้แจงของ พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. กรณีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า การสูบ-ครอบครอง ไม่ได้นำเข้า ผลิต-ขาย ผิดกฎหมาย หรือไม่ดังนี้
1. กรณีผู้ขาย บุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการบารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ยึดบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. บุหรี่ไฟฟ้า ผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด จะต้องถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน และนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร