เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"กองทัพเรือ" จัดพิธีปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ


25 ม.ค. 2566, 18:19



"กองทัพเรือ" จัดพิธีปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ




 

วันที่ 25 ม.ค.66 ที่อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ โดยมี นางจตุพร ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรี ผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือในเวลา 14.00 น. ผู้บัญชาการทหารเรือได้เดินทางถึงบริเวณพิธี โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พล.ร.ท.ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ/ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง พล.ร.ต.เสนอ เงินสลุง ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ พล.ร.ต.สมบัติ แย้มดอนไพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิต อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ/ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง และ นายสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

จากนั้น ผบ.ทร. เป็นประธานประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยอาราธนาพระอาจารย์มหาราเชน ธัมมปาโล รักษาการเจ้าอาวาสวัดเอี่ยมประชามิตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ต่อมาในเวลา 14.49 น. ซึ่งเป็นเวลาฤกษ์อันเป็นมหามงคล นางจตุพร ได้ตัดเชือกปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ จากนั้น ผบ.ทร.และภริยา ได้ลงนามในสมุดที่ระลึก ร่วมบันทึกภาพ และเยี่ยมชมนิทรรศการทางเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 โครงสร้างกำลังรบ ได้กำหนดให้มีเรือลากจูงสำหรับใช้ปฏิบัติราชการในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 8 ลำ ซึ่งในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือลากจูงปฏิบัติราชการแล้ว 6 ลำ และมีแผนปลดระวางประจำการ 1 ลำ ทำให้เหลือเรือลากจูงใช้ในราชการเพียง 5 ลำ กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นในการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางเพื่อมาทดแทน ซึ่งการต่อเรือหลวงตาชัย เรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ จะทำให้มีเรือลากจูงที่เพียงพอต่อการสนับสนุนเรือขนาดใหญ่ และเรือดำน้ำที่กองทัพเรือจะได้รับมอบมาใช้ปฏิบัติราชการในปี 2567

นอกจากนี้การต่อเรือหลวงตาชัย กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกจากบริษัท อู่ต่อเรือภายในประเทศ คือบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านองค์บุคคล องค์ความรู้ และช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทั้งนี้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐทุกประการ โดยมีกำหนดส่งมอบภายใน 540 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา หรือภายในวันที่ 16 พ.ย.65 และเข้าประจำการที่กองเรือยกพลขึ้นบก และยุทธบริการ กองเรือยุทธการ

สำหรับคุณลักษณะของเรือลากจูงขนาดกลาง
1. ขนาดของเรือเป็นไปตามแบบเรือ Ramparts 3200 SD
– ความยาวตลอดลำ 31.50 เมตร
– ความกว้าง 12.60 เมตร
– ความลึกเรือ 5.40 เมตร
– กินน้ำลึก 4.50 เมตร

2. ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่น้อยกว่า 12.1 นอต โดยกำลังของเครื่องยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 100 ของ MCR

3. มีการจัดแบ่งห้องพักอาศัยของกำลังพล จำนวน 20 นาย

4. มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืดเพียงพอต่อการปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง

5. ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่

ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ

1. สามารถเข้าดึงและดันเรือขนาดใหญ่ของกองทัพเรือ และรวมไปถึงเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ได้อย่างคล่องตัวปลอดภัย และสามารถเคลื่อนที่ไปทางข้างได้ โดยมีขีดความสามารถทางการลากจูง และเรือมีกำลังดึง ไม่น้อยกว่า 55 เมตริกตัน

2. สามารถปฏิบัติงานในท่าเรือ และชายฝั่งได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเรือมีความคงทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ

3. สามารถดับเพลิงไหม้ในเรือ ทั้งในเขตฐานทัพ ท่าเรือต่างๆ ของกองทัพเรือ ตลอดชายฝั่งได้

4. สามารถขจัดคราบน้ำมันในทะเลบริเวณท่าเรือและบริษัทได้

5. สามารถสนับสนุนภารกิจอื่นๆ ด้วยความสามารถที่มีอยู่ได้ หากมีความจำเป็น เช่น การลากเป้าในการฝึกยิงอาวุธ

ระบบขับเคลื่อน
1. เครื่องจักรใหญ่ดีเซลแบบที่ใช้งานในเรือที่มีมาตรฐานการปล่อยก๊าซตามข้อกำหนดขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศที่ใช้ฉบับบล่าสุดในระดับ IMO Tier II compliant จำนวน 2 เครื่อง

2. เครื่องจักรใหญ่แต่ละเครื่อง มีระบบควบคุมความเร็วที่ตัวเครื่อง และมีระบบเลิกเครื่องฉุกเฉิน รุ่น MTU BLUE VISION LOP 14

3. ในการณีฉุกเฉิน สามารถขับเคลื่อนเรือได้ด้วยเครื่องจักรใหญ่เพียงเครื่องเดียว โดยไม่ก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายใด ๆ ต่อระบบขับเคลื่อนที่เหลือ

4. ชุดขับเคลื่อนเป็นแบบ Azimuth Thruster แบบ Azimuth Stern Drive ประกอบ Kort Nozzle ตราอักษร SHOTTEL รุ่น SCHOTTEL SRP400 การหมุนของใบจักร เมื่อมองจากท้ายเรือ ใบจักรขวาจะหมุนตามเข็มนาฬิกา ใบจักรซ้ายจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา สามารถบังคับเรือให้ไปทางข้างได้ ทั้งซ้ายและขวา ใช้ส่วนหัวเรือ ทั้งดึงและดันได้โดยไม่ต้องกลับลำเรือ และเน้นการใช้งานสำหรับการดันเรือเป็นหลัก





คำที่เกี่ยวข้อง : #กองทัพเรือ   #เรือหลวงตาชัย  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.