นายกฯ มอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565
9 ม.ค. 2566, 15:09
วันนี้ ( 9 ม.ค.66 ) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานที่ได้รับตราเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีชมวีดิทัศน์ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย” พร้อมรับฟังรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 เมืองใน 14 จังหวัด ครอบคลุมการให้บริการประชาชนกว่า 16 ล้านคน โดยมีการประเมินว่า 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบใบประกาศและโล่รางวัลแก่ผู้แทนเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 รางวัล และกล่าวแสดงความยินดีกับ 15 เมืองอัจฉริยะที่ได้รับมอบตราสัญลักษณ์ฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมืองอัจฉริยะที่ได้รับมอบตราสัญลักษณ์ฯ ในวันนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ทุกคน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนเมืองให้ทันสมัยและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน พร้อมขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมได้ร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจไปในแนวทางเดียวกัน ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมตามหลักการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะได้จัดทำไว้ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและขอบเขตพื้นที่ การจัดทำแผนงานโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งกายภาพและดิจิทัล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเมือง การจัดทำบริการเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ตลอดจนการบริหารจัดการที่ยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ พร้อมบริหารจัดการเมืองที่น่าอยู่ให้กับประชาชนทุกคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการและการพัฒนาที่เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม และคาดหวังให้มีการบูรณาการการทำงานตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีการประสานความร่วมมือ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศน์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและขยายพื้นที่เมืองอัจฉริยะไปยังจังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ มีการพัฒนาที่เชื่อมโยงกัน อันจะก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้น ได้แก่ การเข้ามามีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งผู้นำเมือง เจ้าหน้าที่ ประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรชุมชนมีความเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาและหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่า ความต้องการและข้อกังวลจะได้รับการพิจารณาและถูกระบุอยู่ในเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อส่งต่อไปยังการจัดทำแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับโอกาส รวมไปถึงการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรให้สามารถใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความคาดหวังของภาคประชาชนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความกินดี อยู่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ โดยขอให้ส่วนราชการต่าง ๆ พร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการของเมือง มีการกำหนดนโยบายที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีการติดตามสถานการณ์ภายนอกด้วยความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนประยุกต์การสร้างมาตรการต่าง ๆ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวก สร้างแรงผลักดันและแรงจูงใจให้เกิดขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ภาครัฐ ทั้งด้านภาษีหรือการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลให้ทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของประเทศไทยได้อย่างเท่าเทียม มีการลงทุนในภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในชีวิตและสังคม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจ 36 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และขอบคุณในความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมอบตราสัญลักษณ์ที่ทรงเกียรตินี้จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในทุกองค์กรและทุกระดับ ได้ยึดมั่นต่อภารกิจในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในเมืองอื่น ๆ ได้มีการขับเคลื่อนในภาพรวม ให้สามารถเดินหน้าการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป