เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สบอ.3 ระดมกำลังเจ้าหน้าที่หาเสือโคร่ง ป่าสลักพระ -ไทรโยค ล่าสุดพบแค่รอยเท้า


8 ม.ค. 2566, 12:46



สบอ.3 ระดมกำลังเจ้าหน้าที่หาเสือโคร่ง ป่าสลักพระ -ไทรโยค ล่าสุดพบแค่รอยเท้า




กรณีชาวบ้าน ต.ช่องสะเดา อ.เมืองจ.กาญจนบุรี พบเสือโคร่งเดินเพ่นพ่านบริเวณสวนของชาวบ้านที่ติดชายเขา รวมทั้งชาวบ้าน ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยคจ.กาญจนบุรี ก็พบเสือโคร่งเดินริมถนนสายแยก 323 นั้น

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 นายอนันต์ โพธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ มอบหมายสั่งการผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์กาญจนบุรี ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ ๓ (ประทับช้าง) ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติไทรโยค สายตรวจปราบปราม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๓ (บ้านโป่ง) ร่วมกับองค์การแพนเทอรา ประเทศไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้นำชุมชน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

 



ได้ร่วมกันตรวจสอบรายงานการพบร่องรอยเสือโคร่งนอกพื้นที่อนุรักษ์ บริเวณบ้านท่ากะทิ บ้านทับศิลา ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี และบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีโดยคณะติดตาม ได้ประชุมประมวลเหตุการณ์และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อติดตาม สำรวจ ตรวจสอบจุดที่พบร่องรอยเสือ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

จากนั้นเวลา 13.00 น. เข้าตรวจสอบร่องรอยเสือที่พบ บริเวณบ้านท่ากะทิ บ้านทับศิลา ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับผู้นำชุมชน และชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน นำโดย นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และคณะเจ้าหน้าที่ พบรอยตีนเสือโคร่ง ขนาดความกว้างของอุ้งตีน 10 ซม. จำนวน 5 รอย บริเวณรอยต่อระหว่างไร่ของชาวบ้านกับป่าธรรมชาติ (ป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ) โดยศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าบริเวณที่พบร่องรอยดังกล่าว เพื่อติดตามเสือโคร่งตัวดังกล่าวต่อไป

ต่อมาเวลา 14.00 น. เข้าตรวจสอบร่องรอยเสือที่พบ บริเวณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ทางลงไปที่ว่าการอำเภอไทรโยคร่วมกับผู้นำชุมชน และชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน นำโดย นายสุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยคและคณะเจ้าหน้า พบรอยตีนเสือโคร่งบนกองขี้เถ้าแนวกันไฟ แต่ไม่สามารถวัดขนาดได้ โดยรอยตีนมีทิศทางมุ่งหน้าจากถนนไปตามแนวกันไฟและร่องรอยได้หายไปบริเวณที่เป็นหิน ซึ่งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าบริเวณดังกล่าวแล้วหลังจากพบร่องรอย จึงได้ทำการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอทราบบริเวณที่ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้แล้ว จากนั้นได้ร่วมกับองค์การแพนเทอรา ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในบริเวณที่คาดว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวจะเคลื่อนที่ผ่าน


เวลา 16.00 น. ได้รับแจ้งสายตรวจปราบปราม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) แจ้งว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านวังสิงห์ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี พบรอยตีนขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายกับเสือโคร่ง บริเวณรอยต่อระหว่างไร่มันสำปะหลังกับป่าธรรมชาติ จึงได้ทำการตรวจสอบบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดที่ 1 ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) และเจ้าหน้าที่สายตรวจปราบปราม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ร่วมกับผู้นำชุมชน ทำการตรวจสอบรอยตีนดังกล่าว พบว่าเป็นรอยตีนเสือโคร่ง ขนาดความกว้างของอุ้งตีน 10 ซม. จำนวนมากกว่า 5 รอย บนกองขี้เถ้าแนวกันไฟ โดยรอยตีนมีทิศทางเดินลัดเลาะ บริเวณรอยต่อระหว่างไร่มันสำปะหลังกับป่าธรรมชาติ จึงได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในบริเวณที่คาดว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวจะเคลื่อนที่ผ่าน

เจ้าหน้าที่ชุดที่ 2 ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และองค์การแพนเทอรา ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าบริเวณที่คาดว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวจะเคลื่อนที่ผ่านตั้งแต่วัดถ้ำเสือดาวถึงสำนักสงฆ์พระพุทธบาทคีรีศรีสุทโธ เสร็จสิ้นภารกิจ เวลา 20.00 น.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบเสือโคร่ง ทั้ง 2 แห่ง ทั้งมีข่าวจากชาวบ้านหลายแห่ง ยีงคงแจ้งมาว่าพบเห็นรอยเท้าเสือ โผล่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ยังคงวางกำลังดูแลในบริเวณพื้นที่ซึ่งพบรอยเท้าอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูล :ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง /  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


คำที่เกี่ยวข้อง : #onbnews   #โอเอ็นบี นิวส์   #ข่าว   #ออนไลน์  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.