มท.1 ย้ำทุกฝ่าย เตรียมพร้อมป้องกันอัคคีภัย-อุบัติภัย ช่วงปีใหม่ 2566
22 ธ.ค. 2565, 16:16
วันนี้ ( 22 ธ.ค.65 ) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งพี่น้องประชาชนจะมีการจัดกิจกรรมและมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในช่วงดังกล่าวที่จะมีสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้ง รวมทั้งเป็นช่วงวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน พี่น้องประชาชนมักจะเดินทางกับครอบครัว หรือญาติมิตร เพื่อไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงวันหยุดเทศกาลที่มีวันหยุดหลายวันที่ผ่านมา มักจะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่บ่อยครั้ง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังอันตรายจากอัคคีภัย และอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินมาตรการด้านการเตรียมความพร้อม ด้วยการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ป้องกันและระมัดระวังกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และห้าม การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หรือการแสดงโดยใช้เทคนิคพิเศษ (Special Effect) ในอาคาร หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการลุกลามของอัคคีภัย โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ระบบสื่อสาร ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที และหมั่นตรวจตราพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งพื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ อาคารสถานที่ โดยเฉพาะในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปหนาแน่น เส้นทางสัญจรทั้งถนนสายหลัก สายรอง และทางน้ำ หรือพื้นที่ที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย อาทิ พื้นที่ริมตลิ่ง โป๊ะ ท่าเทียบเรือ รวมถึงความปลอดภัยเรือโดยสาร พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ปรับปรุง ซ่อมแซม สถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความมั่นคง และแข็งแรงปลอดภัย
“ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและอุบัติภัย เช่น การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ การปล่อยโคมลอย รวมถึงบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และเนื่องด้วยช่วงเวลาดังกล่าว มีสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้ง เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยจากการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จึงเน้นย้ำการรณรงค์ให้ประชาชนระมัดระวัง พร้อมทั้งให้หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า หากพบสภาพเก่าหรือชำรุด ควรเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัย” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการเผชิญเหตุอัคคีภัยและอุบัติภัยต่าง ๆ ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย และความปลอดภัยอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเตรียมความพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง กู้ชีพ กู้ภัย เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และจัดให้มีการอำนวยความสะดวกจัดระเบียบจราจร เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ หากเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย หรือสาธารณภัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และรายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบโดยทันที