"เยาวชน" ร่วมกันเก็บและคัดแยกกระทง ก่อนนำกระทงไปเข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปผลิตเป็นกระดาษจากใยกล้วย
9 พ.ย. 2565, 11:13
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณลานรวมใจ ริมแม่นำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่านได้ช่วยกันจัดเก็บขยะกระทง ที่ลอยเกลื่อนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็น ขยะกระทง หลังจากเทศกาลประเพณีลอยกระทงเมื่อค่ำคืนวันที่ 8 พฤษจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาให้คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน บ้านสวนตาล ได้นำขยะกระทง นำมาคัดแยกวัสดุที่เกิดจากการทำกระทง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
โดยกำลังเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน จะนำเรือออกไปเก็บกระทงที่ลอยเต็มแม่น้ำน่าน ขึ้นมารวบรวมไว้ที่บริเวณลานรวมใจ ริมแม่น้ำน่าน ให้ทางนักเรียนจิตอาสา ช่วยกันแยกกระทง เป็นขยะประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ใบตอง ต้นกล้วย และขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษ แม็ค และตะปู ทั้งนี้ส่วนใหญ่พบว่ากระทงทำจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ เช่น ต้นกล้วย ขนมปัง และพบว่ามีกระทงที่ทำจากผ้ารวมอยู่ด้วย
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า ทุกปีหลังเสร็จสิ้นประเพณีการลอยกระทงประจำปี พบว่าเกิด “ขยะกระทง” เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่ประชาชนนิยมนำมาประดิษฐ์เป็นกระทงได้แก่ ต้นกล้วย ใบตอง ดอกไม้ ก้านกล้วย แม้ว่าประชาชนจะหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถนำขยะกระทงที่จะต้องเก็บไปทิ้งยังบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้นำไป ผลิตกระดาษสา กระดาษกล้วย และอีกหลายผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปผลิตเป็นกระดาษจากใยกล้วย เพื่อนำไปต่อยอดทำเป็นกล่องกระดาษใยกล้วย หรือผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่นๆ
โดยเทศบาลเมืองน่าน ได้สร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน จาก “ขยะกระทง” สู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ไม่ธรรมดา และเด็กนักเรียนยังได้เรียนรู้การคัดแยกขยะกระทง การแยกเทียนเพื่อนำไปหลอมเป็นเทียนได้ใหม่ ดอกไม้ใบตองสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ตะปูในกระทงสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ จากนั้นทางเทศบาลเมืองน่านได้นำรถบรรทุกหยวกกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ใช้ทำกระทง หลังจากได้คัดแยกออกจากวัสดุอื่นๆแล้ว ได้ขนไปยังศูนย์เรียนรู้ 3R พาพอเพียง โรงเรียนดรุณวิทยาฯ เพื่อนำหยวกกล้วยเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพจาก “หยวกกล้วย” ให้กลายเป็นกระดาษกล้วยเพื่อสร้างมูลค่า และผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก” อาทิ กล่องใส่ของขวัญ ของที่ระลึก กล่องใส่อุปกรณ์การเรียน บอร์ดนิทรรศการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะได้ ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนเมืองน่านอีกด้วย