นายกฯ ถก ก.น.บ.ไฟเขียว 6 ประเด็น พัฒนาภาค พ.ศ.66-70 และระบบบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
19 ต.ค. 2565, 16:05
วันนี้ ( 19 ต.ค.65 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการประชุม ก.น.บ. ว่ามีความสำคัญเพื่อบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับต่าง ๆ เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดแนวทางการทำงานแบบพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายในพื้นที่ในแต่ละกลุ่มของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน พร้อมกำชับถึงการทำงานเชิงพื้นที่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องให้เกิดความชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนในพื้นที่จะได้รับเป็นสำคัญ เกิดความคุ้มค่า และการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง เพื่อไปสู่การทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการผลิตสินค้าและพืชผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องและคำนึงถึงบริบทของสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งรัฐบาลและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้องให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลกร้อน รวมถึงการปลูกพืชต่าง ๆ ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าจากการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ รวมทั้งผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับต่าง ๆ และให้มีกลไกการทำงานที่เหมาะสม มีการบูรณาการในทุกภาคส่วน เน้นการทำงานแบบมุ่งเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหลุดพ้นจากความยากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในการบริหารงานเชิงพื้นที่จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ และมีระบบติดตามประเมินผลที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ รวมถึงความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ” นายอนุชาฯ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) กรอบนโยบายและระบบการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ
(2) นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 และเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้ง 6 ภาค ได้แก่ 1) ภาคเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” 2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” 3) ภาคกลาง เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” 4) ภาคตะวันออก เป้าหมาย เป็น “ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียนควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” 5) ภาคใต้ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค” และ 6) ภาคใต้ชายแดน เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคงบนสังคมพหุวัฒนธรรม”
(3) นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
(4) ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.น.บ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567
(5) แนวทางการสำรวจสินทรัพย์ระดับจังหวัด
(6) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้านวิชาการ กฎหมาย และการบูรณาการแผนงานโครงการ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 สิงหาคม 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565 เพื่อให้มีการรวมการบริหารงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาคเข้าด้วยกัน เกิดการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) แทนคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เพื่อเป็นกลไลหลักในการทำหน้าที่กำกับให้การบริหารงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค มีการบูรณาการในการทางานร่วมกันอย่างแท้จริง.