“หมอโอภาส” ปลัดสธ. คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพคนไทยให้แข็งแรง
1 ต.ค. 2565, 14:57
เวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงสาธารณสุข เนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นางสุภาพร การย์กวินพงศ์ ภรรยา ผู้บริหารกระทรวง และเจ้าหน้าที่ ข้าราชการประจำกระทรวง เข้าร่วมในพิธีและแสดงความยินดี โดยเริ่มสักการะ ที่ 1.พระพุทธนิรามัย 2.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 3.ศาลพระพรหม 4.พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 5.พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร 6.พระพุทธมหานวนาคปฏิมากร 7.พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และจากนั้น เดินทางไปถวายสังฆทาน ณ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี
นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวม 1 ต.ค. สถานการณ์ของระบบสาธารณสุขไทยเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งเดือน ต.ค. องค์การอนามัยโลกน่าจะมีการทบทวนการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายทำให้ผ่านพ้นวิกฤตมาด้วยดี ทำให้เราทราบจุดแข็งของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องนำมาพัฒนาปรับปรุงไม่ว่าจะ 1.เรื่องการเฝ้าระวัง การรักษา การจัดหาเวชภัณฑ์ วัคซีน
2.การกระจายกำลังคนบุคลากรสาธารณสุขทุกสังกัด รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ที่มีกว่า 1 ล้านคน 3.ความร่วมมือของประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อดีโควิดทำให้มีการแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรสาธารณสุข ทั้งด้านจำนวนและการกระจายตัว โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการบรรจุข้าราชการ 4.5 หมื่นอัตรา ทำให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจเพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคต ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาการเงินที่เคยมี หน่วยบริการมีเงินบำรุงไม่พอ มีหนี้สิน บางแห่งไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ซึ่งโควิดทำให้สถานการณ์เงินบำรุงดีขึ้นมาก เชื่อว่า ระยะ 3 ปีข้างหน้าเราจะพัฒนาหน่วยงาน โรงพยาบาลในสังกัดได้ทุกหน่วย
“ต้องยึดนโยบายของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข คำสำคัญคือ Health For Wealth เพื่อให้ระบบสุขภาพสร้างความมั่งคั่งทางสุขภาพให้ประชาชน ซึ่งนโยบายภาพรวมจะมี 5 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ด้านที่ 2 ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง ด้านที่ 3 ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง เพราะโควิดเป็นตัวเร่งทำให้เกิดปัญหาสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่ากำหนด ขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดเหลือปีละ 5 แสนคน ด้านที่ 4 นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ ด้านที่ 5 ข้อมูลสุขภาพเป็นของประชาชน เพื่อประชาชนด้วยการใช้ดิจิทัล” ปลัด สธ.กล่าว และว่า การพัฒนาระบบสาธารณสุขจะต้องนำเงินบำรุงมาใช้เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างเศรษฐกิจไปในระดับอำเภอ
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในวันที่ 3 ต.ค. จะมีการถ่ายทอดนโยบายไปยัง รพ.ให้ประเมินศักภาพการเงิน การลงทุนด้วยการบริหารเงินบำรุง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารจอดรถ การอนุรักษ์พลังงานด้วยโซล่าเซลล์ แก้ไขเรื่องน้ำเสียและเรื่องอื่นๆ พร้อมสั่งการให้รพ.ตั้งกลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์ที่กว้างขวางมากกว่าเทเลเมดดิซีน ให้คนเมืองลดความแออัดในการเข้ามารับบริการใน รพ. อย่างไรก็ตาม เรื่องการถ่ายโอนอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังระดับอำเภอ สธ.เห็นด้วย แต่ประชาชนจะต้องไม่ได้รับผลกระทบในการรับบริการ ตนได้สั่งการตั้งศูนย์ติดตามเรื่องนี้ในส่วนภูมิภาคแล้ว และจะมีการลงนามมอบอำนาจให้สำนักงานสาธารณสุข(สสจ.) ลงนามการถ่ายโอนไปยังนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หากพร้อมก็ถ่ายโอนได้ทันที
“จะติดปัญหาคืออนุกรรมการถ่ายโอนกำหนดว่า ให้อบจ.จ้าง ซึ่งข้าราชการไม่มีปัญหา จะเหลือคือลูกจ้าง 9 พันอัตรา ดังนั้น ถ้า อบจ.พร้อมจ้าง เราก็ถ่ายโอนทันที สัปดาห์นี้คาดว่ามีหลายอบจ.ถ่ายโอนไป และสุดท้าย หากมีปัญหาใด สธ.ยินดีช่วย อบจ. แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจะพบปัญหาปลีกย่อยค่อนข้างมาก เพราะถ่ายโอนเยอะ หลายแห่งพร้อม หลายแห่ง อบจ.ยังไม่พร้อม เราจะทำให้เกิดความอะลุ่มอล่วย เช่น ให้บางแห่งมีปัญหาเรื่องการบริการ เราจะให้ สสจ. จัดหน่วยบริการเสริมเข้าไปช่วย คาดว่าถ้ามีความร่วมแรงร่วมใจ ก็จะเกิดความราบรื่น” นพ.โอภาสกล่าว