ต่อสู้มา 32 ปี "ยายไฮเฮ" รับชดเชย 1.2 ล้าน เยียวยาสร้างเขื่อนห้วยละห้า
22 ก.ย. 2562, 09:14
วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจ่ายค่าชดเชยเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า จ.ชัยภูมิ ให้นางไฮ ขันจันทา กับ พวกอีก 3 คน รวมวงเงิน 4.9 ล้านบาท เพื่อเยียวยาช่วยเหลือยายไฮ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลไปละเมิดสิทธิราษฎร และยายไฮได้ร้องเรียนคัดค้านมาตั้งแต่ต้นเมื่อปี 2520 จนสร้างเขื่อนเสร็จ
กระทั่งมาถึงสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการทุบเขื่อนทิ้ง จึงต้องชดเชยความเสียหายให้ยายไฮ หลังจากถูกละเมิดสิทธิมา 32 ปี ซึ่งโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างการดำเนินนโยบายของรัฐ ที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน เพราะยายไฮ ไม่เห็นด้วยกับโครงการมาตั้งแต่ต้น และได้ต่อสู้เรื่อยมาผ่านสมัชชาคนจน ดังนั้น รัฐบาลจึงอนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหาย กรณีที่รัฐได้ละเมิดสิทธิของประชาชน
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ ประชุมครม.อนุมัติงบกลางปี 2552 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำนวน 4,948,217 ล้านบาท เป็นค่าเสียโอกาส ในการทำประโยชน์ในที่ดินให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3 ราย คือ นางไฮ ขันจันทา ได้รับเงินชดเชย 1,208,153 บาท นายเสือ พันคำ ได้รับ 2,389,142 บาท และนายฟอง ขันจันทา ได้รับเงิน 1,350,922 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สำหรับ นางไฮ ขันจันทา (หรือยายไฮ) เกิดเมื่อปี 2472 ที่บ้านโนนตาด ตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล (เดิมคืออำเภอเขมราฐ) จังหวัดอุบลราชธานี นางไฮอยู่กินกับนายฟองจนมีลูกชายหญิง รวม 10 คน
เขื่อนห้วยละห้า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาด ตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล จัหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย วัตถุประสงค์ของการสร้างเพื่อการชลประทาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2519-2521 บนที่ดิน 400 ไร่ ซึ่งเป็นที่ทำกินของครอบครัวยายไฮ และชาวบ้านอื่นรวม 21 ครอบครัว
กระทั่งที่ดินทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วมไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรพช.ผู้รับผิดชอบโครงการอ้างว่าเป็นเขื่อนเพื่อชลประทานขนาดเล็ก และเป็นการร้องขอของราษฎรในพื้นที่ แต่ชาวบ้านเจ้าของที่ดิน 3 ราย ที่ดินติดต่อกันด้วย คือนางไฮ ขันจันทา นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ พันคํา ไม่เซ็นยินยอมให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ เป็นเหตุให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมเกิดขึ้นใน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2519