ไทยพบผู้ติดเชื้อ "BA.2.75.2" รายที่ 2 ดื้อยาทุกชนิด-หลบภูมิคุ้มกัน 5 เท่า
19 ก.ย. 2565, 15:57
วันนี้ (19 ก.ย.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อัพเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่าพบโควิดโอมิครอน BA.2.75.2 เป็นรายที่ 2 แล้ว และพบว่าดื้อยาทุกชนิด
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ระบุว่า “โอไมครอน BA.2.75.2 :- ข้อมูลจากทีมวิจัยสหราชอาณาจักร พบสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า และ ดีกว่า BA.4.6 ถึง 4 เท่า ดื้อต่อแอนติบอดีที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 แทบทุกชนิด รวมทั้ง “เอวูเชลด์/Evusheld” โดยไม่จำเป็นต้อง “ตระหนก” พบ BA.2.75.2 เพียง “464 ราย” ในฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” (ในไทยพบสองราย) มูฟออนจากโควิด-19 ได้ แต่ต้องตระหนักการ์ดไม่ตก เพื่อมิให้ BA.2.75.2 มีโอกาสระบาดมาแทนที่ BA.4.6 และ BA.5
ข้อมูลล่าสุดจากทีมวิจัยในสหภาพยุโรป (European Union: EU) เมื่อ 16/กย/2565 ได้รายงานในวารสารวิชาการแสดงข้อมูลทางห้องปฎิบัติการให้เห็นว่าโอไมครอน BA.2.75.2 และ BA.4.6 สามารถหลบเลี่ยง “ยาแอนติบอดีที่ใช้เดี่ยว” และ “ยาแอนติบอดีแบบผสม” รวมทั้ง “เอวูเชลด์/Evusheld” ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีซิกเกวิแมบ/cilgavimab และ ทิกเกจวิมาบ/tixagevimab” ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน 2 สายพันธุ์ดังกล่าวจะรักษายากขึ้นเนื่องจากดื้อต่อ “ยาแอนติบอดี” เป็นส่วนใหญ่ เหลือแอนติบอดีสังเคราะห์เพียงไม่กี่ประเภท เช่น “เบบเทโลวิแมบ/bebtelovimab” ที่ยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอน BA.2.75.2 และ BA.4.6 ได้
ข้อมูลจากทีมวิจัยสหราชอาณาจักร พบสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ของโอไมครอน BA.2.75.2 ดีกว่า BA.5 ถึง 5 เท่า และ ดีกว่า BA.4.6 ถึง 4 เท่า
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกิดความกังวลว่าโอไมครอน BA.2.75.2 และ BA.4.6 อาจหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันทางร่างกายเกิดการระบาดในกลุ่มประชากรขึ้นได้ โดยเฉพาะประเทศในซีกโลกเหนือที่กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งประชาชนจะรวมตัวกันอยู่ในที่พักเพื่อเลี่ยงอากาศหนาว ทำให้โรคติดต่อทางอากาศและการสัมผ้สใกล้ชิด ติดต่อกันได้มากขึ้น
ยาแอนติบอดีแบบผสม“เอวูเชลด์” ทาง EU เพิ่งอนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 เนื่องจากสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BA.1, BA.2, BA.4/BA.5, และ BA.2.75 ในร่างกายผู้ป่วยได้ดีในระดับหนึ่ง โดยขณะที่อนุมัตินั้นยังไม่มีข้อมูลการ “กลายพันธุ์ของโอไมครอน BA.4 มาเป็น BA.4.6” และ “การกลายพันธุ์ของโอไมครอน BA.2.75 มาเป็น BA.2.75.2” ซึ่งดื้อต่อยาเอวูเชลด์
การใช้ “ยาแอนติบอดีแบบผสม” ในประเทศไทยมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรค COVID-19 ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยมี “อาการน้อยถึงปานกลาง” ไม่ต้องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่อาการรุนแรง จากการวิจัยทางคลินิกพบว่า การรักษาด้วยยาแอนติบอดีแบบผสมสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดและยับยั้งการติดเชื้อของร่างกาย รวมทั้งลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆให้ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น เดลตา หรือโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2, BA.4, BA.4.6, BA.5, BA.2.12.1, BA.2.75, BA.2.75.1, BA.2.75.2 ฯลฯ เพราะการรักษาโควิด-19 เริ่มมีลักษณะของการแพทย์แม่นยำ และมุ่งเป้า (precision medicine) มากขึ้นเป็นลำดับ ต่างจากการรักษาในช่วงต้นของการระบาดในปี 2019 ซึ่งผู้ป่วยทุกรายรักษาเหมือนกัน (One-size-fits-all) เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเวชภัณฑ์ อาทิ วัคซีน (เข็มหลัก และ เข็มกระตุ้น) ยาต้านไวรัส และ แอนติบอดีสำเร็จรูปที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 หลายประเภทมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาไวรัสโคโรนา 2019 แต่ละสายพันธุ์ ที่แตกต่างกัน อย่างเช่นกรณีของโอไมครอน BA.4.6 และ BA.2.75.2 เหลือยาแอนติบอดีสังเคราะห์ “เบบเทโลวิแมบ/bebtelovimab” ที่ยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของโอไมครอน BA.4.6 และ BA.2.75.2 ได้
วัคซีนเจนเนอเรชันที่ 2 ที่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ที่ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม หรือวัคซีนเจนเนอเรชัน 3 ที่สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ในอนาคตทุกสายพันธุ์ (Universal coronavirus vaccine) จึงมีความจำเป็น