ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ไอเดียเจ๋งยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
18 ก.ย. 2565, 11:12
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ชั้น 5 ศาลาจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ การยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม : ด้านพืช
โดย ผวจ.ศรีสะเกษ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และจังหวัดนำร่อง 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม บริษัทโอสถสภา จำกัด(มหาชน) บริษัทกุยลิ้มฮึ้ง จำกัด เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการเชื่อมโยงตลาดพืชสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดนำร่อง โดยมี นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายสนอง ดลประสิทธิ์ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด ดร.วิวรรธน์ กฤษฏาสิมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสาย Supply Chain บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยส่วนราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้า สนง.จ.มหาสารคาม ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้แทนจากบริษัท กุยลิ้มฮึ้ง จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ/ผู้บริหารสถานศึกษา/กลุ่มเกษตรกรจังหวัดนำร่องทั้ง 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
ดร.วิวรรธน์ กฤษฏาสิมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสาย Supply Chain บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็มโอยูครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะได้รู้จักภาคีเครือข่ายรวมทั้งเกษตรกรด้วยในการที่จะซื้อสินค้าทางการเกษตรเอามาแปรรูปหรือว่าเอามาพัฒนาแล้วก็นำเอามาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ ขายให้แก่ประชาชนผู้บริโภค เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กว่าจะได้มาซึ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเทคโนโลยีเช่น สวทช.และจังหวัดที่จะต้องเริ่มจากเกษตรกร สามารถที่เอาจุดเหล่านี้มาร่วมกันและจะได้พัฒนาตรงนี้ร่วมกัน ซึ่งโอสถสภาจะเป็นบริษัทที่รับซื้อและนำเอามาแปรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะได้นำเอามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆมาสู่การผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นการที่มีการร่วมมือทางการเกษตร ภาคจังหวัด สวทช.ก็จะได้ร่วมกับทางภาคอุดมศึกษา และบริษัทเข้ามาจะทำให้พวกเรารวมกันเป็นทีมชาติไทยในการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ และทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะนำไปสู่ตลาดถึงมือประชาชนในการที่จะใช้ประโยชน์ได้ในราคาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันถ้าเราจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตในการที่จะทำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น หรือว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้เก็บเกี่ยวแล้วสามารถที่จะไปเพิ่มมูลค่า เพื่อที่จะทำให้มีสารออกฤทธิ์ที่ดีขึ้นในเชิงสมุนไพรหรือว่าจะทำนุบำรุงคุณภาพหรือว่าได้นานในผลิตภัณฑ์ เราก็จะใช้เทคโนโลยีของเหล่านี้นำเอาไปใช้ร่วมกับบริษัท ดังนั้น เมื่อเรามีจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันแบบนี้ในอนาคต เมื่อเกิดการทำงานวงจรหมุนเวียนขึ้นไป จะไม่เพียงแค่ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ว่าจะสามารถขยายผลไปยังเรื่องอย่างอื่นได้ทั่วประเทศ ตนขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคฝ่ายได้เห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรว่าเป็นกำลังสำคัญในการที่จะทำในเรื่องของเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงสุดและอนุรักษ์กับสิ่งแวดล้อม วันนี้จึงอยากเชิญชวนพวกเราทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกันทำฝันของประเทศในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนให้เป็นจริง
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า พื้นที่ในจังหวัดเขตติดต่อกันกับทุ่งกุลาร้องไห้พี่น้องเกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการปลูกพืชผลทางการเกษตรซึ่งสิ่งนั้นก็คือเรื่องของพืชสมุนไพร แต่ว่าอย่างไรก็ตามในการที่จะทำให้ครบวงจร ก็คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูก การผลิต องค์ความรู้และการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะสามารถที่จะสร้างมูลค่าและคุณภาพทำให้เกิดขึ้นกับสมุนไพรที่มีการผลิตการปลูกที่ถูกต้อง ในส่วนนี้เองทางจังหวัดต่างๆก็เน้นที่เกษตรกรเป็นต้นน้ำในขณะเดียวกันในเรื่องของวิทยาศาสตร์เราก็จะมี สวทช.มาร่วมเพื่อจะได้นำเอาองค์ความรู้ปัจจัยอะไรต่างๆมาใช้เพื่อที่จะสร้างมูลค่าสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าหาก 2 สิ่งทำร่วมกันแล้ว ไม่มีตลาดเกิดขึ้นหรือว่าไม่มีความมั่นใจทางด้านการตลาดก็จะทำให้พี่น้องเกษตรกรขาดซึ่งแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้นจึงได้มีภาคเอกชนคือบริษัทโอสถสภาและพันธมิตรเข้ามาร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีคุณภาพภายใต้การดูแลสนับสนุนของหน่วยงานราชการและเทคโนโลยีจาก สวทช.ให้เข้ามาเติมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีตลาดรองรับจากภาคเอกชนคือบริษัทโอสถสภาและภาคีเครือข่ายต่างๆ นี่คือการลงนามความร่วมมือของจังหวัดและภาควิชาการภาคเอกชนและ สวทช.