มท.1 แจงภาพรวมสถานการณ์น้ำ ย้ำรบ.มีแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม-พร้อมรับมือกรณีเกิดพายุ
15 ก.ย. 2565, 15:41
วันนี้ ( 15 ก.ย.65 ) เวลา 11.00 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี ให้เข้าตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ของ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 18 พรรคเพื่อไทย ประเด็น ปัญหาน้ำท่วมและภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในปี 2565 ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในเรื่องของสถานการณ์น้ำ ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีน้ำใช้จากน้ำฝนเท่านั้น ไม่มีแหล่งน้ำจากภายนอกประเทศเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศอยู่ในเขตที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมหรือพายุโซนร้อน (Tropical Storm) ซึ่งสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ คือ จะระบายน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนอย่างไร และจะเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างไร การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ และได้จัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง อาทิ การกักเก็บ การเตรียมการระบายน้ำ ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปหลายโครงการ และได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน และได้จัดตั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด มีการรวบรวมฐานข้อมูล ทั้งจากฝ่ายพยากรณ์ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา GISDA สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ซึ่งก็จะมีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ใช้สำหรับการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการเตรียมการ การรับสถานการณ์ การทำโครงสร้างรองรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยขณะนี้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีการจัดทำแผนใหญ่ ๆ 2 แผน คือ 1) แผนเตรียมพร้อมสำหรับฤดูแล้ง และ 2) แผนเตรียมพร้อมสำหรับฤดูฝน ซึ่งแผนเหล่านี้จะเป็นกรอบการดำเนินงาน ให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปศึกษาและจัดทำแผนงาน โครงการ ตามความสำคัญเร่งด่วนของแต่ละหน่วยงานต่อไป
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถดำเนินโครงการทั้งประเทศในคราวเดียว และไม่มีโครงการใดที่ดำเนินการแล้วจะสามารถแก้ปัญหาน้ำได้ในครั้งเดียวหรือโครงการเดียว การแก้ปัญหาต้องดูบริบทและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ความพร้อมในการกักเก็บน้ำ ความพร้อมในการระบายน้ำ เป็นต้น รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศเราอยู่ได้ด้วยน้ำฝนเท่านั้น ดังนั้น การเก็บและการระบายน้ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุของสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก มีปริมาณความเข้มข้นสูง ซึ่งเป็นอิทธิพลของร่องมรสุมหรือพายุโซนร้อน และหากตกติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมขัง และ 2) สถานการณ์น้ำที่เกิดจากการระบายน้ำทั้งหมดหรือน้ำท่า (Side Flow) เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับอิทธิพลของร่องมรสุมหรือพายุโซนร้อนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยหากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 สถานการณ์ก็จะเกิดน้ำท่วมขังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำได้ ขอยืนยันว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์และมีแผนในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามยุทธศาสตร์และแผนงาน โครงการของหน่วยงาน และมีการจัดสรรงบประมาณให้อย่างต่อเนื่องตามความสำคัญและเร่งด่วน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า “สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมของกรุงเทพมหานครนั้น มีสาเหตุเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักครอบคลุมพื้นที่หลายเขตและตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร อาทิ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ ไม่ได้เกิดจากการระบายน้ำ เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบผังเมืองด้วย "ระบบโพลเดอร์" หรือ "Polder System" คือ การป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบการระบายน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากร ให้แก่กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับการประสานร้องขอ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด”
“ด้านการเตรียมรับน้ำของประเทศไทยในขณะนี้รับผิดชอบเฉพาะน้ำท่า (Side Flow) ที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ หากฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนก็ได้มีการเตรียมการรองรับน้ำและระบายน้ำตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ในแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดสภาพน้ำล้นอ่างและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมถึงให้พื้นที่ใต้เขื่อนสามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่หากเกิดฝนตกในพื้นที่ระหว่างเขื่อน ก็จะเร่งรัดการระบายน้ำให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้ และหากฝนตกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในปริมาณมากก็จะต้องแก้ปัญหาด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้วยการเร่งให้ความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเสริม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกประกาศให้แต่ละพื้นที่เป็นกรณีเฉพาะ และประกาศควบคู่กัน เพื่อให้การช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยได้ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทั้งการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อุปกรณ์เครื่องนอน อุปกรณ์ประกอบอาชีพ รวมถึงในกรณีเสียชีวิต ก็มีเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการฯ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ดำเนินการสรุปและการทำประชาคม รับรองและจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด และย้ำว่าทุกหน่วยงานมีงบประมาณที่ใช้ในการสูบน้ำต่าง ๆ ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินของประชาชนในการดำเนินงาน และทุกหน่วยงานพร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชาชนโดยใช้งบประมาณของรัฐทั้งหมด