ปภ. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน 7 จังหวัด วาตภัย 6 จังหวัด พร้อมสำรวจความเสียหาย
2 ก.ย. 2565, 12:07
วันที่ 2 ก.ย. 65 เวลา 10.30 น. ปภ.รายงานช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ย. 65 ยังคงมีสถานการณน้ำท่วมใน 7 จังหวัด รวม22 อำเภอ 127 ตำบล 523 หมู่บ้าน เกิดวาตภัยในพื้นที่ 6 จังหวัดรวม 6 อำเภอ 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน ผู้บาดเจ็บ 2 ราย (ราชบุรี) ประสานจังหวัดดูแลประชาชนครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯต่อไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานยังคงมีสถานการณน้ำท่วมใน 7 จังหวัด รวม 22 อำเภอ 127 ตำบล 523 หมู่บ้าน แยกเป็น
สถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน หมาอ๊อน” (MAON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และที่ผ่านมาพบว่า หลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1500 – 1800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง
โดยในช่วงวันที่ 13 ส.ค. – 2 ก.ย. ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 21 อำเภอ 124 ตำบล 514 หมู่บ้าน ดังนี้
1. อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ รวม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 157 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
2. ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม รวม 7 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 442 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3. นครนายก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ รวม 18 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,088 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
4. พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะหัน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง รวม 89 ตำบล 439 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 14,973 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
5. อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก รวม 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 297 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
6. ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก รวม 5 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 702 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
ส่วนสถานกาณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่างตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลให้ในวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 เกิดน้ำท่วมและวาตภัย ดังนี้
เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง พิจิตร สระบุรี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 7 อำเภอ 9 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 64 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 1 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดพิจิตร น้ำท่วมในอำเภอสามง่าม รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 50 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมทรงตัว
เกิดวาตภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก กาฬสินธุ์ เลย สระบุรี ราชบุรี รวม 6 อำเภอ 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 28 หลัง ผู้บาดเจ็บ 2 ราย (ราชบุรี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER