รอง ผบช.ภาค 3 ติดตามการดำเนินงานโครงการชุมชนยั่งยืนของ สภ.เมืองศรีสะเกษ
17 ส.ค. 2565, 06:09
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 1 ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง สภ.เมืองศรีสะเกษ ได้รับผิดชอบดำเนินงานตามโครงการนี้ โดยมี พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ หัดกล้า อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ตำรวจภาค 3 ในฐานะที่ปรึกษาโครงการชุมชนยั่งยืน ตำรวจ ภ.จว.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ศุภชัย ศักรินพานิชกุล รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ พ.ต.อ.ณัฐกิตติ์ เจริญเกษสุวรรณ์ ผกก.สภ.เมืองศรีสะเกษ พ.ต.ท. สุรพงศ์ วรพิมพ์รัตน์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองศรีสะเกษ ผอ.ร.ร.บ้านโพธิ์ คณะกรรมการหมู่บ้านและหัวหน้าคุ้มบ้านโพธิ์ หมู่ ที่ 1 ต.โพธิ์ มาร่วมให้การต้อนรับ
พ.ต.อ.ศุภชัย ศักรินพานิชกุล รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและ สตช.ได้มอบหมายให้ สภ.เมืองศรีสะเกษ ดำเนินงาน "โครงการดำ เนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ" โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน โดยเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เข้าใจ และรับรู้ปัญหาพิษภัยที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด เพื่อให้ เกิดกระบวนการป้องกัน แก้ไข และการบำบัดยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน สภ.เมืองศรีสะเกษ ได้คัดเลือก บ้านโพธิ์ หมู่ที่1 ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เข้าร่วมโครงการ ในครั้งนี้ เนื่องจากบ้านโพธิ์ มีปัญหายาเสพติดระบาดในพื้นที่ และมีผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน โดยชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน ได้เข้ามาดำเนินงาน ตามกระบวนการมาจนถึงปัจจุบันนี้ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่ง สภ.เมืองศรีสะเกษ จะได้ส่งต่อความยั่งยืนให้กับชุมชนให้ดำเนินการต่อไป โดย ตร.สภ.เมืองศรีสะเกษ จะเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน เป้าหมายคือชุมชนจะต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง ให้สามารถอยู่ด้วยตนเองได้ ร่วมมือกันสร้างบ้านโพธิ์ให้มีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยตนเอง สร้างบ้านโพธิ์ให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป
พล.ต.ต.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 กล่าวว่า ภาค 3 ประชากรที่สำรวจได้ ประมาณ 130,000 คน 236 สถานี ได้ทำโครงการชุมชนยั่งยืน 236 แห่ง สามารถดึงผู้ใช้ยาเสพติดออกมาได้ 2,525 คนประมาณ 3 % ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. สอดคล้องกับกฎหมาย ยาเสพติดใหม่ที่ถือว่าน้อง ๆ พวกนี้ คือคนไม่สบายต้องมาทำการรักษาที่ดีที่สุด ทุกคนไปโรงพยาบาลก็ไม่ไหว อำเภอหนึ่ง โรงพยาบาลหนึ่ง หมอด้านนี้ยังไม่มีเลย ถ้าเอามาบำบัดในชุมชนที่เราเรียกว่า CBTX หรือว่าชุมชนบำบัดก็จะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่รากหญ้า และจากการทำโครงการที่ผ่านมาเชื่อว่า 2,525 คนนี้จะหายจากการเสพยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาดอยู่ที่ประมาณ 95 % ส่วนที่เหลือก็จะเป็นพวกที่มีอาการหนักจิตหลอนซึ่งจะต้องทำการรักษาด้วยยา ซึ่งถ้าน้อง ๆ ในจุดเล็ก ๆ 236 ชุมชนในเขตรับผิดชอบของภาค 3 ปราศจากยาเสพติดเข้ามา ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลง ความรู้และการแพร่กระจายความรู้เกี่ยวกับโครงการออกไปยังชุมชนต่างๆ รอบข้าง จะเป็นการตัดตอนปัญหายาเสพติดที่เรื้อรังตามนโยบายที่ว่า เมื่อไม่มีผู้เสพ ก็ไม่มีผู้ขาย เรามั่นใจว่าโครงการนี้คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีผู้บำบัดออกมาจำนวน 413 คนจากประชากรจำนวนประมาณ 19,000 คน ตัดคนแก่และเด็กออกไปแล้ว ก็ถือว่าได้เป็นสัดส่วนที่ได้เยอะมากที่สุดในภาค 3 ซึ่งตำรวจศรีสะเกษต้องยอมรับว่าเก่งในเรื่องผู้นำของการปราบปรามยาเสพติด การจับกุมข้อหาสำคัญผู้ขายยาเสพติดก็ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 2 – 3 ก็ยังอยู่ในภาค 3 คือ จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี ด้านการปราบปรามยาเสพติดเอาเฉพาะ จ.ศรีสะเกษนี้ ปีที่แล้วเราสามารถจับกุมยาบ้าได้ 2,250,000 เม็ดทั้งปี และในปีนี้ 8 เดือนที่ผ่านมา จับกุมได้ 2,100,000 เม็ดแล้ว โดยภาพรวมในภาค 3 ในเรื่องการปราบปรามยาเสพติดเราสกรีนทุกจุด ทั้งพื้นที่ชายแดนและตอนใน และทำงานจริงจัง ทำให้สามารถจับกุมผู้ต้องหาสำคัญคือพวกจำหน่ายรายใหญ่ต่าง ๆในภาค 3 จับได้มากที่สุดของประเทศไทย เพราะว่าเราทำงานกันจริงจัง ตนเชื่อว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย มันไม่ได้ลดลงมันกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เพราะฉะนั้นการปราบปรามเราต้องทำอย่างเด็ดขาด ป้องกันแล้วก็ต้องทำตำรวจภาค 3 มีนโยบายทั้ง 2 อย่าง เพื่อสนองทุกภาคส่วนของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มที่