นายกฯ แนะคลังดูแลปชช. ให้ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งเสริมผู้ฝากได้รับเงินออม เพิ่มกำลังซื้อ
16 ส.ค. 2565, 10:28
วันนี้(16 ส.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 0.25% ต่อปี จาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เน้นนโยบายตามข้อสั่งการพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลประชาชนทั้งในระดับฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ส่งออก ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้น้อยที่สุด โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง 7 แห่ง ได้จัดทำมาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนในช่วงนี้ รายละเอียด ดังนี้
1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามความเหมาะสม
2. ธนาคารออมสิน จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน / 6 เดือน ปรับขึ้น 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน / 36 เดือน ปรับขึ้น 0.30% เพื่อช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุด
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อภาคการเกษตร และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันการเกษตร ผู้ประกอบการ และชุมชน โดยการดูแลภาระหนี้สิน เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ใน และนอกระบบ การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และการลงทุน
4. ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้า และผู้ประกอบการไทย รวมทั้งพัฒนาโปรโมชั่นพิเศษสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าPrime Rate อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้อยู่รอด และขยายธุรกิจในตลาดการค้าโลกได้
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME โดยก่อนหน้านี้ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบไม่มาก
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จะคงอัตรากำไรสินเชื่อให้นานที่สุดถึงสิ้นปี เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับลูกค้า สำหรับผลตอบแทนเงินฝาก จะจัดสรรตามส่วนแบ่งกำไรตามเงื่อนไข โดยธนาคารจะพิจารณาผลตอบแทนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงมาประกอบในการพิจารณา
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ ในฐานะผู้ค้ำประกันสินเชื่อ โดยกำหนด 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs
นายธนกรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป โดยหวังว่าประชาชนผู้ฝากเงิน จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งเสริมการออมเพิ่มกำลังซื้อเพิ่ม ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินของรัฐก็จะพยายามช่วยเหลือประคับประคองลูกค้าสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ระหว่างฟื้นตัวนี้ด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและทิศทางการเงินทั่วโลก