รพ.ห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา พัฒนาระบบ Telemedicine ให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
15 ส.ค. 2565, 21:32
วันนี้ 15 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี พัฒนาระบบ Telemedicine ให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Telemedicine) โดยใช้ ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยในการคัดกรองโรคทางตา ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล ตั้งแต่ ระดับรพ.สต. จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โรคตา โรคผิวหนัง และพัฒนาการเด็ก
นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นพ.ศานติ์ ศานติวรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เตรียมความพร้อมรับการตรวจเยี่ยมของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และคณะ ในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลที่มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลให้การสนับสนุน ปี 2565 ในวันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง รับผิดชอบประชากร จานวน 33,814 คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 6 แห่ง มีบุคลากรทั้งสิ้น 132 คน ประกอบด้วย แพทย์ 7 คน ทันตแพทย์ 3 คน เภสัชกร 4 คน พยาบาลวิชาชีพ 33 คน นักกายภาพ 3 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆอีก 82 คน ผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 217 คนต่อวัน โรคที่พบ 5 อันดับแรกของผู้ป่วยนอก คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคระบบกล้ามเนื้อ กลุ่มอาการเวียนศีรษะและไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยในเฉลี่ย 32 คนต่อวัน โรคที่พบมาก 5 อันดับแรกของผู้ป่วยใน คือ โรคคออักเสบ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคปอดอักเสบ กลุ่มอาการปวดในช่องท้อง และกลุ่มอาการเวียนศีรษะ
เป็นความภาคภูมิใจของโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามและเปิดอาคาร “ภูมิพัฒน์” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 เป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา จัดสร้างห้องนิทรรศการหลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จัดนิทรรศการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมแปลงสาธิต ปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ใกล้ๆอาคาร และจัดนิทรรศการวันสำคัญ 7 ครั้ง/ปี ให้ประชาชนเข้าชมและเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดูแลปัญหาสุขภาพของชุมชนโดยมีการดำเนินงานในรูปแบบ คณะกรรมการ พชอ.ตั้งแต่ปี 2561 ได้รับเกียรติบัตรชื่นชม พชอ. ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ของประเทศ และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดประเด็นร่วมกันด้านสังคมและสาธารณสุข ได้แก่ ด้านยาเสพติด ด้านอาหารปลอดภัย การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้านการจัดการขยะ ด้านอุบัติเหตุจราจร และด้านโรคติดต่อสำคัญ เน้นประเด็นโรคติดต่อโควิด - 19 และการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว