"เกษตรจังหวัดขอนแก่น" ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวนา พร้อมแจกเชื้อราไตรโคเดอร์มา หลังโรคใบไหม้ระบาดนาข้าว
18 ก.ย. 2562, 14:59
วันที่ 18 ก.ย. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณีที่ชาวนาบ้านโนนหัวช้าง หมู่ที่ 13 ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้นข้าวเป็นโรคใบไหม้ระบาดเป็นบริเวณกว้างทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน บางรายนำยาปราบศัตรูฉีดพ่นเพื่อไม่ให้เชื้อราขยายวงกว้างสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ไร่
ล่าสุดเกษตรจังหวัดขอนแก่นได้ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวนาพร้อมแจกเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อทำการไปยังยั้งและทำลายเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคไหม้ในใบข้าว ที่แปลงนานางพันธ์ทอง สิงขร บ้านคำหัวช้าง ชาวนาจำนวน 50 คน ได้เข้ามารอรับฟังการให้ความรู้จากเกษตรจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย เกษตรอำเภอน้ำพอง สำนักงานส่งเสริมการเกษตรจังหวัดขอนแก่น โดยนายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ครั้งนี้ได้ลงพื้นที่กับสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำพอง เพื่อทำการตรวจสอบพบข้าวเป็นโรคไหม้ระบาดอย่างรุนแรง บางแปลงเสียหายโดยสิ้นเชิง จึงได้เข้ามาชี้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวนา
จากการตรวจสอบพบว่าข้าวที่ได้รับผลกระทบคือข้าวที่กำลังเจริญเติบโต กำลังจะแตกกอ เพื่อที่จะสร้างตัวตั้งท้องในเร็ววันนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วงไปนาน พอมีฝนมาทำให้เกิดร้อนบวกกับความชื้นทำให้เชื้อราที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ เกิดการขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้เกิดการระบาดในโรคข้าว ทำให้ข้าวเป็นโรคไหม้
ดังนั้นถ้าเกษตรกรพบหรือเจอโรคดังกล่าวต้องแจ้งให้ทางเกษตรตำบลหรือเกษตรอำเภอทราบ พร้อมกับหมั่นตรวจแปลงข้าวสำรวจต้นข้าวว่าเกิดโรคอย่างไรหรือไม่ ซึ่งโรคไหม้นี้ถ้าหากว่าไม่มีการป้องกันจะทำให้การระบาดไปถึงระยะข้าวออกรวง หรือที่ว่าโรคไหม้คอรวงข้าว สร้างความเสียหายได้เป็นบริเวณกว้างทำให้ผลผลิตเสียหายโดยสิ้นเชิง
สำหรับการระบาดของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคไหม้นั้นจะเห็นได้จากใบข้าวจะมีรอยไหม้เป็นจุด ๆ เหมือนลูกตา และข้าวจะตายเป็นหย่อม ๆ ใบจะไหม้ตายเหมือนน้ำร้อนลวก ซึ่งจะดูง่ายจากโรคอื่น โดยจะไม่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยชาวนาสามารถป้องกันโรคไหม้ได้ ซึ่งป้องกันได้ในเบื้องต้นคือ ประเด็นแรกการใช้ปุ๋ยเคมี อย่าใช้ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยเชิงเดี่ยว ถ้าจะใช้ปุ๋ยเคมีแนะนำให้สำหรับดินเหนียวคือ สูตร 16-20-0 ถ้าเป็นดินทราย ใช้สูตร 16-16-8 หรือ16-8-8
ประเด็นที่ 2 ให้ชาวนาใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งมีจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมทำปฏิปักษ์กับเชื้อราที่เป็นโรคทั่วไปไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้ได้เลยโดยที่ไม่ต้องให้เกิดโรคขึ้นก็สามารถใช้ได้เลย โดยเชื้อราดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากนั้นเกษตรจังหวัดขอนแก่น ได้ทำการพ่นไตรโคเดอร์มา เพื่อเป็นกำจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคใบไหม้ โดยการสะพายเครื่องพ่นยาแบบเครื่องยนต์สะพายหลัง เดินลงไปในปลงนาที่เกิดโรคทำการพ่นยาจนหมดน้ำยาในถัง ก่อนที่จะขึ้นมาทำการแจกเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้กับชาวนาที่ข้าวเป็นโรคไหม้เพื่อนำไปผสมน้ำตามสัดส่วนฉีดพ่นต่อไป