นายกฯ ถกบอร์ด EEC ไฟเขียวแผนแผนโครงการศูนย์ธุรกิจ "เมืองใหญ่อัจฉริยะ"
11 ก.ค. 2565, 14:32
วันนี้ ( 11 ก.ค.65 ) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ EEC มีความคืบหน้าโดยลำดับทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบัน โดยย้ำให้คณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาและช่วยกันทำงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมขอให้มีการนำข้อมูลต่าง ๆ ส่งไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันทำความเข้าใจถึงความจำเป็นและความสำคัญในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของ EEC ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และให้สามารถที่จะดูแลประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาและประชาชนอยู่รอด พอเพียง อย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ต้องให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมกล่าวถึงการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) ในพื้นที่ EEC โดยย้ำว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องการพัฒนาในอนาคต รวมไปถึงให้มีการศึกษาพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหารือดำเนินการให้รอบคอบถึงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีน้ำใช้เพียงพออย่างยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วนให้ สกพอ. กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงข่ายท่อประปาที่เสื่อมสภาพ และนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาช่วยในการดำเนินการจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมให้มีการพิจารณาในเรื่องของราคาค่าน้ำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วย และนายกรัฐมนตรีย้ำว่าการดำเนินโครงการ EEC มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลายส่วน ดังนั้นต้องวางแผนงานให้สอดประสานเชื่อมโยงกันทั้งระบบ และให้มีการติดตามประเมินผลต่อเนื่อง ขณะที่การทำสัญญาต่าง ๆ ก็ต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานทุกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับมติที่ประชุม กพอ. ที่ได้สำคัญ ที่ประชุมได้อนุมัติร่างแผนแม่บทและแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ต่อไป พร้อมมอบหมายให้ สกพอ. จัดทำรายละเอียดการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อเสนอ กบอ. และ พพอ. เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับร่างแผนแม่บทโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลห้วยใหญ่ จังหวัดชลบุรี อยู่ในเขต สปก. ระยะเวลาพัฒนาโครงการ 10 ปี เงินลงทุนโครงการ ประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท โครงการลงทุนประกอบด้วย ภาครัฐลงทุนเรื่องที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการส่วนกลาง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเช่าที่ดินหรือร่วมลงทุนหรือลงทุนในกิจการด้านระบบสาธารณูปโภค หรือเอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนด้านพื้นที่พาณิชย์ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ประมาณ 150-300 กิจการ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ครบถ้วน ตลอดจนเกิดประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวม และจะมีเมืองรองที่ทันสมัย มีเมืองใหม่แห่งอนาคต เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเน้นความน่าอยู่ กระตุ้นการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 5 เท่า
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบการดำเนินงานในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1. รับทราบความก้าวหน้าภารกิจขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) 4 โครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าก่อสร้างแล้วทุกโครงการ อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และ 4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งนี้ EEC พร้อมผลักดันทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผน และทำหน้าที่ประสานความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ให้การก่อสร้างทุกโครงการ เสร็จตามแผน เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
2. รับทราบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะล (Desalination) ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตรและการผลิตในอุตสาหกรรม โดยการดำเนินการต่อไป อีอีซี สทนช. กนอ. และเมืองพัทยา จะร่วมกันหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป
3. รับทราบการยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene therapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เป็นภาระของผู้ปกครอง ครอบครัว และประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เทคโนโลยี ยีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง สกพอ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย
4. รับทราบความก้าวหน้าเรื่อง จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่ง สกพอ. ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท โรช ประเทศไทย จำกัด (Roche) จัดตั้งศูนย์ทดสอบระดับสากลสำหรับ “การตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม” และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด non small cell ระยะลุกลามด้วยการแพทย์แม่นยำ ช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่แม่นยำ ลดอัตราการสูญเสียจากโรคมะเร็ง คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน
5. รับทราบการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การถ่ายภาพ การขนส่งสินค้าและคน การสำรวจความปลอดภัย อีกทั้งจะขยายศักยภาพต่อยอดในด้านอื่น ๆ โดยประเทศไทย คาดว่าจะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะสร้างประโยชน์ และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี