ที่ปรึกษา รมว.เกษตรร่วมกับ ผอ.โครงการชลประทานนำคณะ ลงเรือสำรวจลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อยที่ตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้น
6 ก.ค. 2565, 13:52
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ฝายน้ำล้นห้วยคล้าหนองเข็งน้อย ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ ดร.สมเกียรติ ไตรสรณปัญญา นายกรฤต มีเกิดมูล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ ได้ลงพื้นที่เพื่อประชุมและรับทราบเตรียมแก้ไขปัญหาการขุดลอกลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อย ซึ่งปัจจุบันบางส่วนมีสภาพตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์บุญมี เตชะธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าหนองม่วง และนายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนา จ.ศรีสะเกษ ได้นำ นายก อบต.กฤษณา ต.สำโรงตาเร็น ต.หัวเสือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน ในพื้นที่ลำห้วยคล้าไหลผ่านเข้าร่วมประชุมและได้นำลงเรือหางยาวสำรวจการเตรียมขุดลอกลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อย ที่ตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหาแนวทางในแก้ไขในการขุดลอกลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อยให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด และเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชนในพื้นที่หลายๆ ตำบล และส่วนราชการที่ใกล้เคียงด้วย
นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนนา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ ต.หัวเสือ ต.สำโรงตาเจ็น อำเภอขุขันธ์ บางส่วน และที่ ต.ศรีสำราญ ต.โพนยาง ต.บุสูง อ.วังหิน ทำให้ไร่นาได้รับความเสียหาย ภาคประชาสังคม จ.ศรีสะเกษ จึงได้เปิดเวทีประชาคม ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นมวลน้ำไหลมาจากเทือกเขาพนมดงเร็ก อ.ภูสิงห์ ไม่สามารถระบายลงห้วยคล้าได้ มูลเหตุเพราะพื้นที่แก้มลิงของห้วยคล้าตื้นเขิน มีวัชพืชขึ้นกีดขวางทางน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่บ้านศาลาสระบาน ต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จนถึงอ่างเก็บน้ำวังหิน หน้าโรงเรียนนครศรีลำดวนวิทยา ต.บุสูง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ความยาวประมาณ 8 กม. และเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยคล้านิคม 1 ต.หมากเขียบ ต่อมาทางสำนักงานชลประทาน จ.ศรีสะเกษ ได้ออกไปทำการสำรวจพื้นที่ ได้สรุปว่าต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทในการขุดลอกแก้มลิงในพื้นที่ดังกล่าวทั้งระบบ ซึ่งเกินความสามารถที่สำนักงานชลประทาน จ.ศรีสะเกษ จะดำเนินการได้ จึงได้ของบประมาณไปส่วนกลาง ถ้าการดำเนินการขุดลอกแก้มลิงห้วยคล้าประสบผลสำเร็จจะเกิดผลดีดังนี้คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ ต.หัวเสือ ต.สำโรงตาเจ็น ต.สะเดาใหญ่ อ.ขุขันธ์ บางส่วน และที่ ต.ศรีสำราญ ต.โพนยาง ต.บุสูง อ.วังหิน แก้ปัญหาภัยแล้ง ประชาชนมีน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร และแก้ปัญหาการบุกรุกลำห้วยและการล้มตายของสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรตามลำห้วย และปี 2562 ทางหลวงชนบทได้สร้างบล๊อคคอนเวิร์ส 8 แห่ง เพื่อแก้ปัญหา ปี 2563 ได้เชิญ ผช.รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มารับทราบปัญหา ปีงบประมาณ 2564 โครงการชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาทขุดลอกหน้าวัดพรหมนิมิต และยื่นหนังสือต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2568 ปีงบประมาณ 2565 ชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ 85 ล้านบาทขุดลอกหน้าวัดพรหมนิมิตร อ.วังหิน ถึงฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้า อ.ขุขันธ์ และในปีงบประมาณ 2567 – 2570 โครงการชลประทานจะจัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาทขุดลอกจากหน้าวัดพรหมนิมิตรถึงฝายน้ำล้นบ้านยางกุด ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษต่อไป
นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเองและดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงเรือหางยาวสำรวจลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อย ที่ตื้นเขินและมีวัชพืชขึ้น เพื่อจัดสรรงบประมาณในการขุดลอกลำห้วยคล้าแก้มลิงหนองเข็งน้อยให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด โดยปีงบประมาณ 2565 โครงการชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ 85 ล้านบาทขุดลอกหน้าวัดพรหมนิมิตร อ.วังหิน ถึงฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อยห้วยคล้า อ.ขุขันธ์ และในปีงบประมาณ 2567–2570 โครงการชลประทานจะจัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท ขุดลอกจากบริเวณวัดป่าพรหมนิมิต ต.วังหิน หน้าอ่างเก็บน้ำห้วยคล้า อ.ธาตุ อ.วังหิน ระยะ 10.9 กิโลเมตร งบประมาณ 408.71 ล้านบาท ลำห้วยคล้าตอนล่าง จากท้ายอ่างห้วยคล้าไปจนถึงฝายยางกุด ต.หมากเขียบ อ.เมือง งบประมาณ 191.29 ล้านบาท อ่างเก็บน้ำห้วยคล้า ต.ธาตุ อ.วังหิน ระยะ 10.9 กิโลเมตร งบประมาณ 408.71 ล้านบาท ลำห้วยคล้าตอนล่าง จากท้ายอ่างห้วยคล้าไปจนถึงฝ่ายยางกุด ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ งบประมาณ 191.29 ล้านบาท มีปริมาณน้ำในลำน้ำห้วยคล้าเพิ่มขึ้นประมาณ 10.2 ล้านลบ.ม. มีเกษตรกร อ.ขุขันธุ์ อ.วังหิน และ อ.เมืองศรีสะเกษ ได้รับประโยชน์จำนวน 10 ตำบล มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 10,000 ไร่ สามารถสร้างรายได้จากข้าวนาปรังในพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก และเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชนในพื้นที่และส่วนราชการที่ใกล้เคียงต่อไป
ทางด้าน ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตนจะดำเนินการในส่วนของการประสานงานผลักดันงบประมาณในการจัดทำโครงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ส่วนทาง ผอ.โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ จะเป็นผู้เขียนโครงการนำเสนอของบประมาณ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ ขจัดปัญหาต่างๆของโครงการ ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมใจร่วมแรงกันอย่างจริงจังทุกอย่างก็จะสำเร็จตามที่ประชาชนต้องการมีน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมอย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป