ชลประทานศรีสะเกษ จัดเสวนาการปรับเปลี่ยนปลูกพืชมูลค่าสูงในเขตชลประทาน
15 มิ.ย. 2565, 10:26
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานศรีสะเกษ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้จัดเสวนาเรื่อง การปรับเปลี่ยนปลูกพืชมูลค่าสูงในเขตชลประทาน โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายนาวิน ป้องกัน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานแปลงใหญ่ ต.ผักไหม นายเชิดชัย จิณะแสน ประธาน ศพก.ระดับประเทศ นายนที เกิดปั้น YOUNG SMART FAMMER นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ มี ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้แนวคิดที่จะนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยมี นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผอ.โครงการฝายหัวนา พร้อมด้วยเกษตรกรจากทุกอำเภอของ จ.ศรีสะเกษมาร่วมรับฟังการเสวนาจำนวนมาก
นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้ได้ผลดีมากในส่วนของกรมชลประทาน ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์เชิดชัย ซึ่งเป็นวิทยากรระดับประเทศในเรื่องของการเกษตรและเราได้เชิญวิทยากรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาให้ข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเราจะทำเป็นลักษณะศรีสะเกษโมเดล ซึ่งสรุปวันนี้มี 3 แนวทางด้วยกันคือ 1. ทางกรมชลประทานโดยชลประทานศรีสะเกษจะต้องไปหาพื้นที่เป้าหมายซึ่งเราได้มีพื้นที่เป้าหมายเอาไว้แล้วจากการที่เราจะเพิ่มเกษตรมูลค่าสูงว่าเขาต้องการน้ำหรือเปล่า ซึ่งเกษตรมูลค่าสูงมี 2 แบบ คือ แบบใช้น้ำและแบบไม่ใช้น้ำ แบบใช้น้ำมีที่ไหนบ้างซึ่งเราก็ต้องเสนอแผนไปยังกรมชลประทานต่อไป แนวทางที่ 2 เราจะต้องนำเอางานที่มีอยู่แล้วหรือว่าเรามีต้นทุนด้านน้ำอยู่แล้วเช่นกรมชลประทานได้ก่อสร้างแหล่งน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประมาณ 500 กว่าแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระราชดำริ โครงการขนาดเล็ก โครงการขนาดใหญ่หรือว่าการขุดลอกหนองคลองบึงต่าง ๆ มีน้ำต้นทุนอยู่แล้วประมาณ 347,000,000 ลูกบาศก์เมตร จะต้องเอาไปเสนอขายให้กับทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อจะได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็คือการใช้น้ำของ จ.ศรีสะเกษ ที่มีต้นทุนอยู่แล้ว น้ำที่มีอยู่แล้วที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ น้ำที่ไหลสู่แม่น้ำมูลที่เป็นน้ำเหลือจะต้องเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด แนวทางที่ 3 จากการที่ได้เสวนาในวันนี้รูปแบบที่อาจารย์เชิดชัยเสนอเป็นรูปแบบ package คือหาแม่งานในหน่วยงานตนเองในกระทรวงของตนเองเพื่อจะได้ของบประมาณในลักษณะว่า มีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เช่น กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือผลิตน้ำต้นทุน หน่วยงานเกษตรที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการร่วมกันในพื้นที่นั้น ๆให้เกิดมูลค่าสูงสุดและอาจจะมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เฉพาะแต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น แต่อาจจะมีกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์หรือว่าธนาคารต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันในพื้นที่นั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน ฉะนั้นการเสวนาในครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ซึ่งนอกเขตชลประทานตรงนี้เราก็มีพื้นที่อีกประมาณ 3,000,000 ไร่ซึ่งใน จ.ศรีสะเกษ เรามีพื้นที่ทั้งหมด 5,000,000 กว่าไร่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร 3,400,000 ไร่ พื้นที่ชลประทานประมาณ 400,000 ไร่เศษเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น 3,000,000 ไร่นี้ เราต้องหาเป้าหมายและหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาบูรณาการร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป