นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่น สานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ
27 พ.ค. 2565, 10:29
วันนี้ (26 พ.ค. 65) เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกันอีกครั้ง ภายหลังจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชื่นชมญี่ปุ่นต่อความสำเร็จในการจัดการประชุมเพื่อเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ในการเจรจาแนวทางการดำเนินการและรายละเอียดของสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่พบหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ติดตามและต่อยอดผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังยินดีทราบว่านอกจากนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 แล้ว ยังจะได้พบกับประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทย พร้อมจะได้ศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City ด้วย หวังว่าภารกิจทั้งหมดจะประสบความสำเร็จ เห็นผลการกระชับความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรีชื่นชมบ้านเมืองที่สวยงาม สะอาดเรียบร้อยผู้คนเป็นมิตรของญี่ปุ่น ยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยือน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างยินดีกับพลวัตทางการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงมีมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของทั้งสองประเทศ สะท้อนถึงการเริ่มกลับมาของกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและมีผลที่เป็นรูปธรรม และได้หารือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้รับพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยเกี่ยวกับการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย และการจัดตั้ง KOSEN Education Center เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีพิจารณาข้อเสนอของไทยเมื่อได้รับข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และพร้อมการส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC
ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกับถึงแนวคิด Asia Zero-Emissions Community ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry - METI) ได้หารือเรื่องนี้กับรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ฯ ที่กรุงเทพฯ โดยไทยยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นภายใต้แนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั้งไทยและญี่ปุ่น และนโยบายเศรษฐกิจ BCG และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ไทยจึงพร้อมดำเนินการกับญี่ปุ่นเพื่อขับเคลื่อนข้อริเริ่มนี้ให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการเปิดรับนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และกล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2564-2567 พร้อมต่อยอดแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในทุกมิติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นต่างยินดีอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นมีบทบาทในภูมิภาค โดยญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืนของภูมิภาค โดยเฉพาะต่อการฟื้นตัวจากโควิด-19 การรักษาห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และสมาชิกเอเปคในโอกาสการเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และชื่นชมนโยบาย BCG ของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเติบโตสีเขียว และเกษตรอัจฉริยะของญี่ปุ่น
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาคและสถานการณ์โลกอย่างสร้างสรรค์ โดยต่างเห็นพ้องในการให้ความสำคัญในการดำเนินความร่วมมือประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านมนุษยธรรม ทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และในเมียนมา โดยฝ่ายญี่ปุ่นกล่าวเห็นความพยายามของประเทศสมาชิกอาเซียนในความร่วมมือเรื่องเมียนมา และชื่นชมไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ ต่างสนับสนุนความพยายามของทุกฝ่ายในการหาทางยุติสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติและสงบสุขโดยเร็ว
ภายหลังจากเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ร่วมการประชุมฯ ซึ่งจัดโดยบริษัท Nikkei โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย