นายกฯ ติดตามสถานการณ์การนำแรงงานต่างชาติกลับเข้ามาทำงานในไทย
13 พ.ค. 2565, 11:43
วันนี้(13 พ.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์การอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างชาติกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับกระทรวงแรงงานให้เตรียมพร้อมแนวทางการดูแลแรงงาน และดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขในการเดินทางเข้าประเทศไทย หลังจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 กระทรวงแรงงานได้นำแรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 287 คน กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) กลับเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ผ่านเส้นทางย่างกุ้ง-เมียวดี-แม่สอด ซึ่งนับเป็นแรงงานเมียนมากลุ่มแรกที่เข้ามาทำงานหลัง ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 และในวันที่ 11 พ.ค. 2565 ก็ได้นำแรงงานสัญชาติเมียนมากลุ่มที่ 2 จำนวน 301 คน เดินทางตามเข้ามาทางด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมาที่นำกลับเข้ามาทำงานทั้งสิ้น 588 ราย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อม และวางแนวทางการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ว่า ก่อนเดินทางเข้าไทย แรงงานต้องแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงานว่าเป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร พร้อมแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในกรณีรับวัคซีนครบโดส ให้นายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า ส่วนกรณีรับวัคซีนไม่ครบโดส และไม่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง แจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในประเทศ หลักฐานการยืนยันว่ามีสถานที่กักตัว (อย่างน้อย 5 วัน)
สำหรับแนวทางการเดินทางเข้าไทย แรงงานสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องกักตัว สามารถรับการตรวจเอกสารหลักฐาน ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยจะต้องตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ ATK ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางการแพทย์ หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หลังจากนั้น หากไม่พบเชื้อ แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ ส่วนกรณีพบเชื้อ ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ Organizational Quarantine (OQ) หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่ไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
"นายกรัฐมนตรีเข้าใจข้อจำกัด และความต้องการของนายจ้าง สถานประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจึงมุ่งมั่นที่จะนำแรงงานต่างชาติกลับเข้ามาทำงานให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีห่วงใย และเพื่อควบคุมสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของคนไทย ได้กำชับกระทรวงแรงงานให้เตรียมแนวทางการดูแลแรงงาน และดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข พร้อมขอความร่วมมือนายจ้างและสถานประกอบการให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของไทย ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด โดยไม่จ้างแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย" นายธนกรฯ กล่าว