เริ่มแล้ว ! ประเพณี “ขึ้นถ้ำรับร่อ ปิดทองพ่อปู่หลักเมือง” ย้อนรอยตำนานกว่า 7 ศตวรรษ ที่ตั้งเมืองเก่า “เมืองอุทุมพร” จนมาเป็น ”วัดรับร่อ”
28 เม.ย. 2565, 12:26
เมื่อค่ำวานนี้ (27 เม.ย. 65) ที่ วัดเทพเจริญ (วัดถ้ำรับร่อ) ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร นายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร(นายก อบจ.ชุมพร) เป็นประธานตีกลองเปิดงานประเพณี”ขึ้นถ้ำรับร่อ ปิดทองพ่อปู่หลักเมือง” ประจำปี 2565 ซึ่งทาง วัดฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนในท้องถิ่น ร่วมจัดงานประเพณี “ขึ้นถ้ำ ปิดทองพ่อปู่หลักเมือง ขึ้น ระหว่างวันที่ 23 เม.ย. ถึงวันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยมีวัตุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
สำหรับความเป็นมาของ วัดเทพเจริญ หรือวัดถ้ำรับร่อ ถือเป็นวัดสำคัญของจังหวัดชุมพร ตั้งอยู่บริเวณ”เขารับร่อ” หรือ “ภูเขาพระ” มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในอดีต การเผยแพร่พุทธศาสนาของเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และสงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมนั้น เป็นที่ตั้งเมืองเก่าชื่อ “เมืองอุทุมพร” ซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานเมืองอุทุมพร ระบุว่ามีการสร้างวัดหน้าถ้ำทะเลเซียะเมื่อ พ.ศ. 1923 ภายในบริเวณถ้ำพบพระพุทธรูปสถิตเป็นพระประธานอยู่ปากถ้ำ เรียกว่า “พ่อปู่หลักเมือง” คนชุมพรถือเอาพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นหลักเมืองชุมพร ต่อมาพระยาไชยบุรินทร์ (คล้าย ฐิตะฐาน) เจ้าเมืองชุมพร ต้องการบูรณะขึ้นเป็นวัดประจำตระกูล จึงอุทิศที่นาสร้างศาสนสถานและบันไดทางขึ้นสู่ถ้ำ แล้วใช้ชื่อเรียกว่า วัดเทพเจริญศุภผล ล่วงถึงปัจจุบันจึงเหลือเพียงชื่อวัดเทพเจริญ หรือชาวบ้านรู้จักในชื่อ “วัดถ้ำรับร่อ”
สำหรับ “ประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ ปิดทองพ่อปู่หลักเมือง” เป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาว อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในอดีตมีตำนานเล่าว่า ในยุคที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ในชุมชนเมืองอุทุมพร ถือได้ว่าประชาชนชาวเมืองมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ประกอบการสร้างบ้านเมือง จำเป็นจะต้องมีศูนย์กลางที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ชาวอุทุมพร จึงสร้างพระพุทธรูปเป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง เรียกว่า "พ่อปู่หลักเมือง” และได้ยึดถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี เป็นวันขึ้นปิดถ้ำปิดทององค์พระหลักเมือง และปฏิบัติต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน สืบสานกันเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ตามตำนานนิทานพื้นบ้านเชื่อกันว่าบริเวณรอบๆ ภูเขาถ้ำรับร่อแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณชื่อ "เมืองอุทุมพร” ร่วมสมัยกับนครศรีธรรมราช ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมืองอุทุมพรใช้เป็นเมืองท่ารักษาด่านทางข้ามคดคอดคาบสมุทรมลายู มีสำเภาจีนมาค้าขาย ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนามาจากนครศรีธรรมราช จึงได้สร้างพระพุทธรูปปูนปั้น องค์ใหญ่เรียกว่า "พระหลักเมืองหรือพระพุทธรูปพ่อปู่หลักเมือง” เป็นพระประทานประดิษฐานอยู่กลางถ้ำ ถ้ำพระแห่งนี้ปัจจุบันผู้สูงอายุในหมู่บ้านยังเรียกว่า "ถ้ำทะเลเซี๊ยะ” ตามชื่อคลองที่ไหลผ่านหน้าวัดและหน้าภูเขาพระไปทางทิศใต้ โดยไหลไปรวมกับคลองรับร่อและไปบรรจบกับคลองท่าแซะ ที่บ้านปากแพรก ตำบลนากระตามปัจจุบัน และมีเรื่องเล่าว่า เมื่อเสร็จจากการสร้างพระพุทธรูปพ่อปู่หลักเมืองแล้วทรัพย์สินเงินทองที่ชาวบ้านนำมา ร่วมสร้างยังคงเหลืออีกมากมาย จึงได้นำไปฝังไว้ในถ้ำอีกถ้ำหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน และเขียนรูปพระพุทธไสยยาสน์ลงสีไว้ที่ผนังถ้ำ ตามตำนานกล่าวว่า ภาพปริศนานั้นสร้างขึ้นด้วยแรงอธิฐาน ดุจปู่โสมเฝ้าทรัพย์ โดยเรียกว่า "อ้ายเตย์” แม้จะลบเท่าไรก็หมดหลายครั้งที่มีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เอาน้ำชุบผ้ามาทดลองลบสี ปรากฏว่าพอน้ำแห้งสีก็กลับเป็นดังเดิม นอกจากภาพปริศนาอ้ายเตย์เฝ้าสมบัติแล้ว ยังมีคำกล่าวเป็นลายแทงมหาสมบัติไว้ว่า "อ้ายเตย์ อ้ายเตย์ เอาลูกใส่เปล เอาตีนคาใน น้ำมันสองขวดค่อยนวดลงไป ผู้ใดคิดได้ อยู่ใต้อ้ายเตย์” จากปริศนาลายแทงนี้ นักแสวงโชคจึงพากันเชื่อว่า สมบัติมีจริงตามลายแทง จึงมีผู้มาตามหาและขอขุดทุกปี ปรากฏว่ายังไม่มีผู้ใดได้สมบัติดังกล่าวไปตามความเชื่อ ทั้งนี้ ทางวัดไม่อนุญาตให้ขุดค้น มีบ้างที่บางครั้งมาขโมยขุดกลางคืน ทุกครั้งมักจะมีเหตุอัศจรรย์เช่น ถูกงูขาวใหญ่ไล่กัดบ้าง มีเสียงลึกลับไล่ตะเพิดบ้าง ถึงกับต้องวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไปทุกครั้ง อีกแนวทางหนึ่ง ถ้ำรับร่ออันเป็นที่ประดิษฐานองค์พ่อปู่หลักเมืองนั้น จากการสันนิษฐานของนักวิชาการท้องถิ่นว่า ณ บริเวณชุมชนโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าชุมพร (อุทุมพรในอดีต) ร่วมสมัยกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองสิบสองนักกษัตริย์ปีมะแม สมัยนั้นเมืองอุทุมพร ถือตราแพะเป็นตราประจำเมือง เมืองชุมพรในอดีตจึงน่าจะเป็นเมืองอุทุมพรที่ท่าแซะ
อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์กันอีกต่อไป ปัจจุบันพบว่าหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด คือ แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ เพราะปรากฏว่าสถานที่แห่งนี้มีมนุษย์อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบเครื่องมือ ขวานหินขัดและเศษภาชนะดินเผาในถ้ำต่างๆ ในภูเขาถ้ำรับร่อ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีมนุษย์เคยอาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี พ่อปู่หลักเมือง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา เรียกกันว่า"พระหลักเมือง”หรือ"พ่อปู่หลักเมือง”เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร องค์พระสูง ๙ เมตร ประดิษฐานอยู่กลางถ้ำทะเลเซี๊ยะของภูเขาพระหรือภูเขารับร่อ ตามประวัติศาสตร์เล่ากันว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๖๐๒-๑๘๐๐ พระบรมราชา พระเจ้าหงษาสุระ พระเจ้าจันทรภานุ ซึ่งเป็นกษัตริย์สามพี่น้องของเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากได้กู้เอกราชคืนมาจากพวกทมิฬได้บูรณะพระธาตุและรับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์เข้าสู่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเผยแพร่ไปยังเมืองลูกหลวงสิบสองนักกษัตร ชาวเมืองอุทุมพร จึงได้รับอารยธรรมศาสนาพุทธนี้ด้วย จึงสร้างพระพุทธรูปขาดใหญ่ไว้ในถ้ำภูเขาพระ ชาวเมืองได้ยึดถือเอาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้เป็นคู่บ้านคู่เมือง โดยเรียกชื่อว่า "พ่อปู่หลักเมือง” วัตถุที่ใช้สร้างพระพุทธรูป ให้หินวางซ้อนกัน แล้วจับด้วยดินเหนียว ส่วนองค์พระใช้ไม้แกะสลักหุ้มด้วยดิน ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ ชาวอำเภอท่าแซะ มีความเชื่อว่า การสักการะองค์พ่อปู่หลักเมืองพร้อมกับการบนบานศาลกล่าวต่อประเด็นที่พวกเขามุ่งหวัง จะส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการบนบานศาลกล่าวนั้น ๆ