"ผู้นำท้องถิ่น" ออกลาดตระเวน ทำแนวป้องกันไฟป่า - แก้ปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน
28 เม.ย. 2565, 12:26
วันนี้ 28 เม.ย. 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากสภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนจัดอุณหภูมิ เกิน 41 องศาฯ และเนื่องจากช่วงหน้าแล้งของทุกปี มักเกิดปัญหาไฟป่า ก่อให้เกิดหมอกควันในอากาศเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ และเด็กจะส่งผลกระทบมากๆ ทางเดินระบบหายใจ
โอกาสนี้ ณ บริเวณพื้นที่รอยต่อขอบป่ากับพื้นที่ชุมชนหมู่ 3 - 5 ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ประธาน ทสม. ตำบลช่องสะเดาประธาน ทสม.อำเภอเมืองกาญจนบุรี รองประธาน ทสม.จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย ทีมอาสาสมัครพิทักษ์ไฟป่า หมู่ที่ 5 บ้านแก่งปลากด ได้ร่วมกันลงพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านโป่งปัด หมู่ที่ 5 บ้านแก่งปลากด ออกลาดตระเวนตรวจและทำแนวป้องกันไฟป่าเพิ่ม เพื่อป้องกันไฟป่าและการลักลอบเผาป่าในพื้นที่ เฝ้าระวังปัญหาหมอกควัน เพื่อไม่ให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตในป่า รวมถึงความปลอดภัยของทุกคนในชุมชน นอกจากการดูแลไฟป่าแล้ว ผู้นำท้องถิ่นยังใส่ใจเรื่องปัญหาช้างป่าใรช่วงฤดูแล้งนี้ด้วยอย่างไม่หยุดหย่อน
สำหรับปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนี้ นายดิเรก จอมทอง ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน พร้อมด้วย นายสุวิชาญ สุวรรณนาคะ นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาช้างป่า) พร้อมด้วยนายคำนวน ขำสุวรรณ กำนันตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า 9 จังหวัด กาญจนบุรี จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมเดินทางไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือและยื่นหนังสือข้อเรียกร้องความรับผิดชอบกรณีช้างป่าทำให้เสียชีวิต และทำลายพืชผลทางการเกษตร ให้แก่ นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ณ ศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทางคณะจึงได้เดินทางเข้าพบ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงาน ก.พ.ร.(เดิม) เพื่อเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องเรื่องผลกระทบจากภัยช้างป่า รุกล้ำเข้าในเขตพื้นที่อยู่อาศัยและทำลายทรัพย์สิน ทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชน สร้างความเสียหายรุนแรง ทั้งการเสียชีวิตทั้งคนและช้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าและพื้นที่ทับซ้อนให้ภาครัฐทำการแก้ไขเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าต่อไป