สธ.กาญจน์ เตรียมความพร้อมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565
8 เม.ย. 2565, 09:46
วันนี้ 7 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ชั้น 3 อาคารสุรพงษ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้นายอนุชา วรหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในการประชุมมีการสรุปสถานการณ์อุบัติเหตุจราจรทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ของจังหวัดกาญจนบุรี ข้อสั่งการการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 การดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและกำหนดค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 แนวทางการบันทึกข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ และแนวทางการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่
ส่วนที่ห้อง ที่ห้องประชุมสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ชั้น 3 อาคารสุรพงษ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้นายอนุชา วรหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานการนิเทศงานสาธารณสุขระดับจังหวัด ประจำปี 2565 ของ คปสอ.เลาขวัญ ผ่านระบบ Google Meet
สำหรับ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค เตือนช่วงหน้าร้อนนี้ ให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ
แพทย์หญิงรพีพรรณ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี สิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือการเสียชีวิต อันเนื่องมาจากภาวะอากาศร้อนโดยเฉพาะโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ เกิดจากมีความร้อน ในสิ่งแวดล้อมสูงจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ในนักกีฬาหรือในทหารที่ต้องฝึกหนักกลางแจ้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้
แพทย์หญิงรพีพรรณ กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับประชาชน คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในบ้านที่เป็นห้องกระจกปิดไว้เพียงลำพัง และไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดด หากมีอาการตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ อาจวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ 6 กลุ่มที่ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร เป็นต้น 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน 5. ผู้ที่อดนอน และ 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ทำการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้ 1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก 2. เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตาม ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ 4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และ 5. รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรีเบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422