เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รองผู้ว่าฯสระบุรี" แถลงข่าวจัดงาน ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565


26 มี.ค. 2565, 08:23



"รองผู้ว่าฯสระบุรี" แถลงข่าวจัดงาน ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565




จังหวัดสระบุรีจัดแถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรมงาน "ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี ตานก๋วยสลาก ย้อนตำนานไท-ยวน ประจำปี 2565"  เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามในท้องถิ่นที่จะสูญหายไป  และเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว  โดยเฉพาะอำเภอเสาไห้  โดยมีนางอังคณา ชิตะติดติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี  เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมฯ พร้อมด้วยนางดวงเดือน สดแสงจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี  นายพชร ศรีมหาเอก ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอเสาไห้ และอาจารย์ดำรงค์ เขียวสมอ เลขานุการชมรมไทยวนสระบุรี กำหนดจัดงานวันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่บริเวณกาดพระยาทด วัดพระยาทด ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 

เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ของพี่น้องชาวไทยวน ที่นำการถวายสักการะบรรพชนด้วยการสร้างขบวนเครื่องไทยทานอันยิ่งใหญ่ประกอบ ด้วยก๋วยสลากสูงใหญ่อลังการ นำเป็นขบวนแห่ถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระยาทด ทั้งนี้ในงานจัดให้มีมหรสพตามประเพณี การประกวดละอ่อนน้อยไท-ยวน  นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชนอำเภอเสาไห้ และชุมชนสระบุรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้ซื้อหาบริโภคสินค้าของท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ที่งดงาม และการจัดการแสดงแสงเสียงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาตำนานของชาวไทยวนสระบุรี การกำเนิดเกิดก่อจนถึงการอพยพจากเมืองเชียงแสนเข้าสู่ภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวเชียงแสนโบราณมาจวบจนทุกวันนี้ 

ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึงประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ   โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม1 ค่ำ เดือนเกี่ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทางวัด และชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลากก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทําพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้า หรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า “ก๋วยสลาก”

ประเพณีทำบุญสลากภัต  บางพื้นที่เรียกว่า "ทานก๋วย" "ตานก๋วยสลาก" ไทยวนสระบุรีเรียกว่า "บุญกินข้าวสลาก" ซึ่งนิยมทำตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้เจาะจงช่วงเวลา ในอดีตมักทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรออก หรือช่วงออกพรรษา เป็นต้น โดยทางเจ้าภาพจะตระเตรียมต้นสลากภัต ซึ่งก็จะเป็นกระจาดไม้ไผ่ขนาดใหญ่ มีคานสำหรับช่วยกันหามไปยังวัด กลางกระจาดปักไม้ไผ่สูง ตกแต่งเป็นช่อฉัตรหลายชั้นอย่างสวยงาม ในอดีตจะมีการประกวดกันด้วยว่าหมู่บ้านใดจะทำต้นสลากภัตได้งดงามกว่ากัน ภายในกระจาดบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร เสื้อผ้า ผลไม้ ตามแต่ที่จะนำมาทำบุญโดยการถวายตานก๋วยสลากนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 อย่างด้วยกัน คือ อย่างหนึ่งเป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งเป็นการอุทิศไว้ให้ตนเองเมื่อล่วงลับในภายหน้า การถวายก๋วยสลากถือกันว่าจะได้อนิสงส์แรง เพราะเป็นการทําบุญแบบสังฆทาน ผู้ถวายไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง

นางทองใบ บุญตา อายุ 72 ปี (ชาวบ้าน) เผยว่า ตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด จนตอนนี้อายุ 72 ปี แล้ว  ประเพณีนี้เขาเรียกว่า  ข้าวสลากภัต  เพราะมาจากรุ่นบรรพบุรุษที่เขาจัดไหว้ และอยากให้มีต่อไป เพราะหลังจากรุ่นตนแล้ว  รุ่นเด็กๆก็จะไม่ค่อยรู้จัก เพราะเด็กๆเขาทำงานกันหมด

นายดำรงค์ เขียวสมอ เลขานุการชมรมไทยวนสระบุรี กล่าวว่า ตนเองในฐานะเป็นตัวแทนชมรมไทยวน ขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดสระบุรี  และจังหวัดใกล้เคียง เชิญมาเที่ยวงาน กินข้าวสลาก หรือ งานตานก๋วยสลาก  ที่ ท่าน้ำพระยาทด อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ในวันที่ 8-10 เมษายน 2565 นี้  ภายในงานมีการถวายสลากภัต หรือกินข้าวสลาก ตั้งแต่วันที่ 8 และตอนกลางคืนยังมีงาน แสงสีเสียง และวันที่ 9 เมษายน จะมีการกินข้าวแล้งคันโตก ที่ท่าน้ำพระยาทดนี้ 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.