"ผอ.สำนักฯ" 3 คนใหม่ ประเดิมกดปุ่มเปิดคอกปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 5
18 มี.ค. 2565, 15:33
วันนี้ 18 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่หน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ (เขาเสือ) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เป็นประธานโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 5 และเป็นประธานกดปุ่มเปิดประตูคอก Soft Release ปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 3 ตัว โดยมีนายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)กล่าวรายงาน
มีนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ/หัวหน้าโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ นายวสัต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา รวมทั้งข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง เข้าร่วม
ทั้งนี้นายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ กล่าวรายงานว่า วัวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศเมียนมา ไปจนถึงเกาะบอร์เนียวในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทยในอดีตเคยมีวัวแดงกระจายอยู่ทั่วทุกภาค แต่จากการถูกไล่ล่าอย่างต่อเนื่องและป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ทำให้วัวแดงลดลงจนตกอยู่ในสถานภาพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน IUCN หรือสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ กำหนดให้วัวแดงอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์และอยู่ในบัญชีแดง (IUCN Red List)
ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี แห่งนี้ เดิมมีวัวแดงอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ปัจจุบันไม่มีรายงานพบวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมา กว่า 30 ปี จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการฟื้นฟูประชากรวัวแดงให้กลับคืนมา
ภายใต้ความโชคร้าย เรายังมีความหวังเนื่องจากว่า ปี 2517 ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับมอบวัวแดงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นลูกวัวแดงเพศเมียที่แม่ถูกยิงตายในป่าสลักพระ ต่อมาได้รับลูกวัวแดงเพศผู้จากจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดอุทัยธานีเพิ่มมาอีก 2 ตัว ปัจจุบันมีวัวแดงในคอกเลี้ยงที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จำนวน 19 ตัว และได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในป่าสลักพระแห่งนี้ไปแล้วจำนวน 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 จำนวน 4 ตัว ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 จำนวน 3 ตัว ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 จำนวน 3 ตัว และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2562 จำนวน 3 ตัวรวมปล่อยไปแล้วทั้งหมดจำนวน 13 ตัว
จากการติดตามศึกษาวัวแดงทั้ง 13 ตัวหลังการปล่อยพบว่าวัวแดงทั้ง 13 ตัว สามารถปรับตัวใช้ชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม และยังสามารถให้กำเนิดลูกวัวแดงในธรรมชาติได้แล้วอย่างน้อยจำนวน 19 ตัว รวมขณะนี้สามารถฟื้นฟูประชากร วัวแดงให้กลับคืนมาได้แล้วอย่างน้อย 32 ตัว ทั้งนี้โดยมีมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดงที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์ บอกต่อ และปกป้องวัวแดงได้อย่างดีเยี่ยม
ปีนี้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้จัดทำโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2564-2565) จำนวน 3 ตัว อายุระหว่าง 3-5 ปี เป็นเพศผู้จำนวน 2 ตัว ชื่อคุ้มครองและวันสุข และเพศเมียจำนวน 1 ตัว ชื่อน้ำฝน ซึ่งถือเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง
ด้านนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กล่าวว่า ในนามของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุนที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เพื่อฟื้นฟูประชากรวัวแดงสัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์ไปจากป่าสลักพระเป็นเวลากว่า 30 ปี ให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และถือเป็นประวัติศาสตร์โลก
ซึ่งตามนโยบาย “ทส.เป็นหนึ่งเดียว และทส.ยกกำลังX” ของท่านวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสั่งการของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งระบบนิเวศของชาติอย่างสุดกำลังความสามารถ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้นำเอานโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านการป้องกันปราบปรามและด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นหนึ่งในภารกิจตามนโยบายดังที่กล่าวข้างต้น
สำหรับวัวแดงถือเป็นทรัพยากรสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยควบคุมปริมาณวัชพืชในป่า กระจายเมล็ดพันธุ์พืช และยังเป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นหมายความว่าวัวแดงช่วยเติมเต็มและทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุลนั่นเอง
จากที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการนี้ผ่านคำกล่าวรายงานเมื่อสักครู่และจากการติดตามรายงานที่หน่วยงานภาคสนามรายงานให้ทราบมาเป็นลำดับตั้งแต่เริ่มมีโครงการนี้ ทราบว่า ขณะนี้วัวแดงได้กลับมาโลดแล่นในป่าสลักพระได้อีกครั้งหลังจากสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่เป็นเวลากว่า 30 ปี และระบบนิเวศในป่าแห่งนี้ก็กำลังฟื้นตัวสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นในอดีตด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นเป็นรูปธรรมได้จากภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ (Camera Trap) ที่สามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าได้จำนวนมากและมีชนิดที่หลากหลาย รวมไปถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ด้วย
สุดท้ายนี้ขอให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ที่ทุกท่านเสียสละความสุขสบาย มาช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นเสมือนการปิดทองหลังพระ และในไม่ช้าทองนั้นก็จะล้นออกมาด้านหน้าให้ผู้อื่นได้เห็น ถึงแม้จะต้องใช้เวลายาวนาน ก็ขอให้ทุกคนมีกำลังใจอย่าได้ท้อถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอวัวแดงออกจากคอก นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ/หัวหน้าโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ได้ประกาศว่าวัวแดงเพศเมีย ชื่อน้ำฝน ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในครั้งนี้นั้น กำลังตั้งท้อง ถือว่าการปล่อยวัวแดงในวันนี้ไม่ใช่ปล่อยเพียงแค่ 3 ตัว แต่เป็นการปล่อยวัวแดงถึง 4 ตัว หลังจากได้ยิน จึงสร้างความฮือฮาให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก