"หมอธีระ" ชี้! โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ลั่นติดแล้วรักษาหายยังมีอาการคงค้าง
9 ก.พ. 2565, 14:36
วันนี้ (9 ก.พ.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,066,983 คน ตายเพิ่ม 10,819 คน รวมแล้วติดไปรวม 400,213,270 คน เสียชีวิตรวม 5,780,480 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน บราซิล รัสเซีย อเมริกา และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ84.55 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.52 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.68 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ32.15
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ภาพรวมการระบาดโลก ตอนนี้ทวีปเอเชียมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันราวครึ่งหนึ่งของยุโรป แต่เอเชียสูงกว่าอเมริกาเหนือถึง 4 เท่า ทั้งนี้ยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและช่วงพีค และค่อนข้างชัดเจนว่าทวีปเอเชียจะเป็นทวีปท้ายที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของระลอก Omicron
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสสังคมโลก ที่หลายประเทศหันเหไปสู่การยอมเปิดเสรีการใช้ชีวิตเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจด้วยมุมมองระยะสั้นที่เห็นการติดเชื้อ Omicron ที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนถัดจากนี้ไปคือ จำนวนการติดเชื้อในแต่ละวันหลังผ่านพ้นพีคการระบาดไปนั้นน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าหางของระลอกเดลต้า โดยมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อในกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจะพบกลุ่มติดเชื้อซ้ำมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ผลกระทบระยะยาวจากจำนวนติดเชื้อสะสมที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพากำลังคนในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของการใช้ “แรงงาน” และที่ต้องใช้”สมอง”
หลักฐานวิชาการชัดเจนว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แค่ติดเชื้อ-ไปรักษา-หายขาด แต่กลับทำให้เกิดภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ในสัดส่วนที่สูงถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มอาการ ตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อย และอาการรุนแรง
ผลที่เกิดขึ้น มีสมมติฐานทางการแพทย์ 2 ประการหลักที่อธิบายเรื่อง Long COVID ได้แก่
หนึ่ง การทำให้เกิดกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องในระบบอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ต่อมไร้ท่อ ฯลฯ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติระยะยาวจนกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน
สอง การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง หรือเรียกว่า Auto-antibody ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ
ทั้งนี้ มีการศึกษาตรวจพบไวรัสคงค้างในเซลล์อวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์สมอง และทางเดินอาหารอีกด้วย
หลายประเทศกำลังเผชิญผลกระทบจากการที่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมาก และมีภาวะอาการคงค้างจนกระทบต่อระบบงานในประเทศ ล่าสุด Financial Times ได้เผยแพร่บทความเมื่อวานนี้ โดยกล่าวถึงผลการสำรวจของ The Chartered Institute of Personnel and Development
โดยทำการสำรวจองค์กรต่างๆ ในสหราชอาณาจักรกว่า 800 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างหรือพนักงานรวมกันกว่า 4.3 ล้านคนพบว่า มีถึง 1/4 ที่รายงานว่าประสบปัญหาเรื่องพนักงานของตนเองต้องลาป่วยระยะยาวเนื่องจาก Long COVID
ทั้งนี้ มีถึงครึ่งหนึ่งขององค์กรที่สำรวจ ได้ยอมรับว่าพนักงานของตนเองมีปัญหาภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แต่มีถึง 20% ที่รายงานว่าไม่ทราบสถานะสุขภาพของพนักงานว่ามีปัญหานี้หรือไม่ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงว่า ปัญหา Long COVID ในสถานการณ์จริงอาจมากกว่าที่องค์กรต่างๆ ได้รายงานมา
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงาน ปัญหา Long COVID ที่จะเกิดขึ้นเป็นผลกระทบระยะยาวนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือ ทั้งในเรื่องระบบการเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแลรักษา ผู้ที่ป่วยเป็น Long COVID และที่สำคัญคือ ระบบการให้คำปรึกษาให้แก่ประชาชน รวมถึงองค์กร/หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และเพื่อให้นายจ้างได้ดูแลลูกจ้างหรือพนักงานของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเวลาที่ประสบปัญหา
โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ หากไม่สบาย แม้เล็กน้อย ก็ควรแจ้งคนใกล้ชิดหรือที่ทำงานที่เรียน หยุดงานหยุดเรียน เพื่อไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถ้าทำเช่นนี้ได้ ก็จะประคับประคองการใช้ชีวิตในระหว่างสถานการณ์ระบาดไปได้