นายกฯ หารือทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ผลักดันการค้าการลงทุนร่วม สานความร่วมมือรอบด้าน
2 ก.พ. 2565, 15:54
วันนี้ ( 2 ก.พ.65 ) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตในประเทศไทย ซึ่งไทยและเนเธอร์แลนด์ต่างมีความสัมพันธ์และประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนานกว่า 400 ปี ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ และความร่วมมือพหุภาคี และทวิภาคี โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการน้ำที่ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีร่วมแสดงความยินดีกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการของเนเธอร์แลนด์ พร้อมถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์
ด้านเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ารับตำแหน่ง ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศในอาเซียนที่เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญและมีบทบาทในด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยมีศักยภาพอย่างยิ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปยังตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เทคโนโลยีการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเนเธอร์แลนด์เน้นแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต โดยเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ยืนยันว่า พร้อมให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป
โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
- ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งยังลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น การส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ระหว่างกัน ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ เห็นพ้องว่าทั้งสองฝ่ายสามารถผลักดันการค้าการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ลงทุนในไทยแล้วกว่า 300 บริษัท โดยล่าสุดเนเธอร์แลนด์ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาขยายการลงทุนต่อไป รวมทั้งการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU และการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-EU ซึ่งเห็นพ้องว่า ไทยและเนเธอร์แลนด์สามารถเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือที่จะต่อยอดผลประโยชน์ร่วมกันได้ระหว่างสองภูมิภาค
- ด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม เนเธอร์แลนด์พร้อมร่วมมือกับไทยในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียว ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวคิด BCG ซึ่งไทยให้ความสำคัญ และสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกับกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2564
- ด้านเทคโนโลยีการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ขยายความร่วมมือระหว่าง Food Valley ของเนเธอร์แลนด์และเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของไทย ซึ่งทางเนเธอร์แลนด์มีแผนที่จะจัดตั้งจุดประสานงานเครือข่ายระดับโลกด้านนวัตกรรมอาหาร (Global Coordinating Secretariat of the Food Innovation Hubs: GCS) ด้านเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่จะต้องคำนึงถึงเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่เนเธอร์แลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (EXPO 2022 Floriade Almere) ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2565 ซึ่งไทยจะเข้าร่วมงานเช่นเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “Thailand Pavilion” ในแนวคิด “Trust Thailand” โดยเชื่อมั่นว่างานดังกล่าวจะช่วยสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีสีเขียวและนวัตกรรมเพื่อการผลิตและชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ได้แสดงความยินดีกับการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ของไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้หัวข้อ เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งพร้อมที่จะนำข้อหารือที่ได้ไปสานต่อร่วมกับเนเธอร์แลนด์และEUเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่อไป