"นุ้ย เชิญยิ้ม" งานเข้า! องค์กรพุทธฯ ติงเพลง “นะโม” เนื้อหาไม่เหมาะสม จ่อสั่งแบนทุกช่องทาง
7 ก.ย. 2562, 11:29
วันที่ (6 ก.ย. 62) นายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในนามองค์กรเครือข่ายชาวพุทธ เตรียมจะยื่นหนังสือท้วงติงความไม่เหมาะสมมิวสิควิดีโอเพลง “นะโม” ที่ขับร้องโดยนักแสดงตลกชื่อดัง นุ้ย เชิญยิ้ม ถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในวันที่ 9 ก.ย. 62 นี้
โดยองค์กรเครือข่ายชาวพุทธได้รับการร้องเรียน และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมของเพลง “นะโม” ที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์อยู่ในขณะนี้ ทางองค์กรเครือข่ายฯ ได้พินิจพิเคราะห์เนื้อเพลงท่วงทำนองในบทเพลงดังกล่าวแล้วมีความห่วงใย และมีประเด็นท้วงติงดังนี้ 1. การนำบทสวดนะโม มาใช้เป็นบทเพลงทำนองการร้องที่ไม่เหมาะสม 2. เนื้อร้องมีข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อข้อเท็จจริงในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร 3.บริบทของเพลงโดยรวมมิได้สะท้อนถึงสาระสำคัญในพระพุทธศาสนา และเป็นการบ่งชี้ถึงความรู้สึกต่อพระสงฆ์ในเชิงอคติจิต
ดังนั้น ทางองค์กรเครือข่ายฯเห็นว่า เพลงนะโม เป็นสิ่งที่ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ขัดต่อหลักข้อเท็จจริงการประพฤติปฏิบัติของความเป็นพระภิกษุสามเณร อีกทั้งการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลงดังกล่าว สามารถรับชมได้ทั่วโลก จะก่อให้เกิดความเสียหาย เข้าใจผิด เกิดวิกฤตศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยรวม จึงขอให้ระงับยับยั้งการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง นะโม โดยทันที ทุกช่องทาง โดยเพลงนะโมนี้ ขับร้องโดยนักแสดงตลกชื่อดัง “นุ้ย เชิญยิ้ม”
นอกจากนี้ ทางองค์กรเครือข่ายฯ ยังได้รับการร้องเรียนมาอีกว่า มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในจ.นครราชสีมา โดยมีการนำภาพวาดสีน้ำมันรูปร่างคล้ายยอดมนุษย์อุลตร้าแมนในลักษณะต่างๆ แต่กลับมีการวาดส่วนหัวเป็นเศียรของพระพุทธรูป ดังนั้นในสัปดาห์หน้าทางองค์กรเครือข่ายฯ จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมามีการกระทำที่เข้าข่ายลบหลู่ ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา มาอย่างต่อเนื่อง ทางองค์กรเครือข่ายฯ มองว่าควรที่จะมีมาตรการทางด้านกฎหมายขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งควรมีการนำร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่ทางองค์กรเครือข่ายฯ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้มีการดำเนินการไว้แล้ว มาพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ